มุมมอง Pension fund ของโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 4, 2011 10:40 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) นับเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ และมีบทบาทมากในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ประกอบกับ อัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกองทุนจากเงินของประชาชนที่ใส่เข้าไปในกองทุนเพื่อการออม ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตลาดทุน รวมทั้งการลงทุนในลักษณะต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ จากการศึกษาพบแนวโน้มที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การเพิ่มขึ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) การเติบโตของสินทรัพย์ของ Pension fund ทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2007 มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2001 เป็น 31.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า และคาดว่าปี 2009 จะมีมูลค่าสินทรัพย์ 29.5 ล้านล้านเหรีญสหรัฐ โดยในปี 2008 สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีมูลค่ากองทุนรวมมากที่สุดขณะที่กองทุนที่มีมูลค่าสูงสุด คือ Government Pension Investment ของญี่ปุ่น

2. การลงทุนของ Pension fund โดยทั่วไปนั้นจะลงทุนใน Equity และ Bond เป็นหลัก และมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่การลงทุนในรูปเงินสดอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแต่ละประเทศมีการบริหารจัดการสัดส่วนการลงทุนแตกต่างกันขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก โดยกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีแนวโน้มลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในประเทศ

3. การขาดดุลของ Pension fund เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหนี้สิน ในกลุ่มประเทศสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นความท้าทายสำหรับการจัดการกองทุนในการกำหนดผลประโยชน์ชนิดทดแทน (Defined Benefit : DB) ทั่วโลก ในระหว่างปี 2008-2009 สัดส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินของ Pension fund ของ 11 ประเทศสำคัญลดลงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะปี 2008 สินทรัพย์ลดลงร้อยละ 15 ขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ส่งผลให้สัดส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินลดลงจากร้อยละ 90 เป็นร้อยละ 68 ลดลงต่ำสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ข้อเสนอแนะในการรองรับแนวโน้ม Pension fund โลก

1. การพัฒนาตลาดทุนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเช่น Infrastructure fund, Interest rate futures, Venture capital และ Gold Exchange Traded Fund เป็นต้น

2. การปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ให้เอื้อต่อนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ เน้นความสำคัญของการมีระบบติดตามที่ทันต่อเหตุการณ์ และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

3. การสร้างความเชื่อมโยงของตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่มากขึ้นและสร้างความน่าสนใจต่อการลงทุนได้เป็นอย่างมาก

กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) นับเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน เนื่องจากเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ และมีบทบาทมากในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก ประกอบกับ อัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกองทุนจากเงินของประชาชนที่ใส่เข้าไปในกองทุนเพื่อการออม ทำให้กองทุนบำเหน็จบำนาญเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตลาดทุน รวมทั้งการลงทุนในลักษณะต่าง ๆ ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

1. ความหมายและประเภทของ Pension fund

1.1 กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) คือ กองทุนที่นำผลประโยชน์จ่ายเป็นบำเหน็จหรือบำนาญแก่สมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุหรือต้องออกจากงาน หน่วยงานราชการหรือหน่วยธุรกิจเอกชนจัดตั้งกองทุนนี้เพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างซึ่งแหล่งเงินของกองทุนมาจากการจ่ายเงินสมทบของนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ซึ่งอาจเป็นฝ่ายเดียว สองฝ่าย หรือสามฝ่าย สำหรับประเทศอื่น ๆ มีการเรียกใช้คำสำหรับ Pension fund นี้ต่าง ๆ กัน เช่น ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Retirement Plan ในอังกฤษและไอร์แลนด์เรียกว่า Pension Scheme และในออสเตรเลียเรียกว่า Superannuation Plan เป็นต้น นอกจากนั้น Pension fund ยังมีประโยชน์ทางด้านภาษีทั้งทางฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างอีกด้วย

1.2 ประเภทของ Pension fund สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือประเภทที่ 1 กองทุนบำเหน็จบำนาญแบบเปิด และแบบปิด

  • แบบเปิด คือ กองทุนที่รองรับ Pension plan ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านสมาชิก
  • แบบปิด คือ กองทุนที่รองรับ Pension plan ซึ่งเฉพาะเจาะจงเฉพาะลูกจ้างที่อยู่ในแผนเท่านั้น ได้แก่3
  • Single employer pension funds กองทุนฯ ที่จัดตั้งโดยนายจ้างคนเดียว
  • Multi-employer pension funds กองทุนฯ ที่จัดตั้งโดยนายจ้างหลายคน
  • Related member pension funds กองทุนฯ ที่ประกอบด้วยสินทรัพย์ของสมาชิกจำนวนจำกัดจากสมาชิกที่เป็นส่วนทั้งหมดของกองทุนฯ
  • Individual pension funds กองทุนฯ ที่ประกอบด้วยทรัพย์สินและสวัสดิการของลูกจ้างแต่ละคน ซึ่งตามปกติเป็นบัญชีของบำนาญลูกจ้างคนเดียวหลาย ๆ บัญชีรวม ๆ กัน

ประเภทที่ 2 กองทุนบำเหน็จบำนาญแบบควบคุมโดยรัฐและภาคเอกชน

2. แนวโน้มของกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) ทั่วโลก

2.1 การเพิ่มขึ้นของกองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund)

การเติบโตของสินทรัพย์ของ Pension fund ทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2001 จนถึงปี 2007 มูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 17.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2001 เป็น 31.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ก่อนที่จะชะลอตัวลดลงที่ 25.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 หรือลดลงร้อยละ 18 จากปี 2007 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นในปี 2009 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 29.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากปี 2008

ในปี 2008 ประเทศที่มีกองทุนบำเหน็จบำนาญที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดและมีบทบาทมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกามีมูลค่าสินทรัพย์ถึง 15,612 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของมูลค่าสินทรัพย์ของ Pension fund ทั่วโลกรองลงมาได้แก่ สหราชอาณาจักร (2,318 พันล้านเหรียญสหรัฐ, สัดส่วนร้อยละ 9) และแคนาดา (1,523 พันล้านเหรียญสหรัฐ, สัดส่วนร้อยละ 6) สำหรับในเอเชีย ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มี Pension fund ใหญ่ที่สุด ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 874 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3 ของมูลค่าสินทรัพย์ของ Pension fund ทั่วโลก

สำหรับกองทุน Pension funds ที่มีมูลค่าสินทรัพย์มากที่สุดของโลก คือ Government Pension Investment ของญี่ปุ่นมีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งสิ้น 1,287,612 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาได้แก่ Government Pension Fund ของนอร์เวย์ และ ABP ของเนเธอร์แลนด์ ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 339,149 และ 243,071 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ ขณะที่ Government Pension Fund ของไทยอยู่ที่อันดับ 222 ของโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ 11,201 ล้านเหรียญสหรัฐ

เมื่อพิจารณามูลค่าสินทรัพย์ของ Pension fund กับขนาดเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ (GDP) คาดว่า ในปี 2009 ภาพรวมมูลค่าสินทรัพย์ Pension fund โลก คิดเป็นร้อยละ 70 ของ GDP โลก (ประมาณการณ์โดย Tower Watson and Various Secondary)จากแผนภาพที่ 2 ในปี 2008 ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศมีขนาดกองทุน Pension fund ขนาดใหญ่ที่มีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 100 ของ GDP ของประเทศนั้น ๆ กล่าวคือ ขนาดกองทุนฯ มีขนาดใหญ่กว่า GDP นั่นเอง ได้แก่ เดนมาร์ก (ร้อยละ 152) เนเธอร์แลนด์ (ร้อยละ 115) สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 110) แคนาดา (ร้อยละ 109) และสวิสเซอร์แลนด์ (ร้อยละ 102) สำหรับประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์ของ Pension fund อยู่ระหว่างร้อยละ 50-100 ของ GDP ได้แก่ ออสเตรเลีย (ร้อยละ 96) สหราชอาณาจักร (ร้อยละ 88) ฟินแลนด์ (ร้อยละ 67) แอฟริกาใต้ (ร้อยละ 54) และชิลี (ร้อยละ 53)

2.2 การลงทุนของ Pension fund

การลงทุนของ Pension Fund ของประเทศที่มีขนาดกองทุนฯใหญ่ โดยทั่วไปนั้นจะลงทุนใน Equity และ Bond เป็นหลักและมีสัดส่วนการลงทุนอยู่ในระดับสูง ขณะที่การลงทุนในรูปเงินสดอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งแต่ละประเทศมีการบริหารจัดการสัดส่วนการลงทุนแตกต่างกัน ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการจัดสรรการลงทุนได้รับอิทธิผลจากความอ่อนไหวของตลาดทุนทั่วโลกเมื่อพิจารณาแนวโน้มการจัดสรรการลงทุนของประเทศสำคัญหลัก 5 ประเทศ (แผนภาพที่ 4) พบว่า ในปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลก สัดส่วนการลงทุนใน Equity markets ของ 4 ประเทศลดลงจากปี 2003 ยกเว้นญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นโดยสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนการลงทุนมากที่สุดร้อยละ 56 และเนเธอแลนด์มีสัดส่วนการลงทุนน้อยที่สุดร้อยละ 26 ขณะที่การลงทุนใน Bond markets ลดลงอย่างมากในญี่ปุ่น โดยลดลงจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 32 ซึ่งตรงข้ามกับสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 34 และเนเธอร์แลนด์สัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 40 เป็นร้อยละ 58 สำหรับสัดส่วนการลงทุนในรูปเงินสด อสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนอื่น ๆ โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในรูป Equity และ Bond ดังนั้น ในปี 2009 คาดว่าการฟื้นตัวของ Pension fund ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของทั้ง Equity markets, Bond markets และ Hedge funds

แนวโน้มทิศทางการลงทุน พบว่าเมื่อพิจารณาสัดส่วนการลงทุน กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วให้น้ำหนักการลงทุนในตราสารทุนโดยเฉลี่ยสูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ และมีแนวโน้มลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศ ประกอบกับในตลาดเกิดใหม่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี

2.3 การขาดดุลของ Pension fund เพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้สินของ Pension fund ในกลุ่มประเทศสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นความท้าทายสำหรับการจัดการกองทุนในการกำหนดผลประโยชน์ชนิดทดแทน (Defined Benefit : DB) ทั่วโลก ในระหว่างปี 2008-2009 สัดส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินของ Pension fund ของ 11 ประเทศสำคัญลดลงอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะปี 2008 สินทรัพย์ลดลงร้อยละ 15 ขณะที่หนี้สินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ส่งผลให้สัดส่วนสินทรัพย์ต่อหนี้สินลดลงจากร้อยละ 90 เป็นร้อยละ 68 ลดลงต่ำสุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และกลับฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2009 สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ75 (ต่ำกว่าสัดส่วนในปี 1998 ซึ่งเป็นปีฐานอยู่ร้อยละ 25)

นอกจากนั้น จากการสำรวจของ FTSE100 Global indes by Lane Clark & Peacock ยังพบสถิติที่สอดคล้องกัน กล่าวคือในปี 2008 บริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกหลายแห่งมีการ finance กองทุนฯ ลดลง โดยมีเพียง 6 บริษัทเท่านั้นที่รายงานว่ามีการเกินดุล เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2007 ที่มีบริษัทเกินดุลถึง 21 แห่ง ทั้งนี้ในภาพรวมมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นจาก 19 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2007 เป็น 154 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2008 และเมื่อพิจารณาจากขนาดตลาด Pension fund (Market capitalization)พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วบริษัทในเยอรมันขาดดุลถึงร้อยละ 7.6 บริษัทในฝรั่งเศสขาดดุลร้อยละ 5 และบริษัทในสวิสเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ขาดดุลประมาณร้อยละ 3

3. ข้อเสนอแนะนโยบายเพื่อรองรับแนวโน้ม Pension fund

กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension fund) มีการลงทุนในตลาดทุนเป็นหลักนั้น สำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กและมีความต้องการเงินทุนจากต่างประเทศ ฉะนั้นแนวนโยบบายเพื่อรองรับแนวโน้มและผลกระทบจากการขยายตัวของ Pension fund ของโลกนั้น มีดังนี้

1. การพัฒนาตลาดทุนให้มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ทั้งในส่วนของตราสารทุน และตราสารหนี้ รวมถึงการผลักดันและสนับสนุนนวัตกรรม สินค้าใหม่ๆ ในตลาดทุน เช่น Infrastructure fund,Interest rate futures, Venture capital และ Gold Exchange Traded Fund เป็นต้น ซึ่งการที่ตลาดทุนของประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายนี้จะเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักลงทุน นอกจากนั้นแล้วการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับตลาดในระดับสากล ก็น่าจะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน

2. การปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการต่างๆ ให้เอื้อต่อนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ เน้นความสำคัญของการมีระบบติดตามที่ทันต่อเหตุการณ์ และมีความสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น การปรับกฎเกณฑ์การดำรงเงินกองทุน การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน ให้เพียงพอรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤติ รวมถึงกำหนดให้การเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุนอย่างเพียงพอ และง่ายต่อการทำความเข้าใจ

3. จากการที่ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก แนวทางหนึ่งที่จะสร้างความน่าสนใจในการลงทุนก็คือ การสร้างความเชื่อมโยงของตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในอาเซียน ซึ่งจะทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่มากขึ้น และสร้างความน่าสนใจต่อการลงทุนได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้โครงการที่ประเทศกำลังจะเริ่มดำเนินการ ซึ่งควรจะสนับสนุนและผลักดันอย่างมาก ก็คือ ระบบเชื่อมโยงการซื้อขายหลักทรัพย์ ASEAN Linkage ซึ่งคาดว่าประเทศไทยน่าจะเริ่มใช้ได้ในช่วงครึ่งปีหลังปี พ.ศ. 2554

โดย กฤติกา โพธิ์ไทรย์

ประจำเดือนมีนาคม 2554

ที่มา: สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง Tel : 0-2273-9020 ต่อ 3683

Fax : 0-2273-9987 http://www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ