รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 เมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2011 12:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 เมษายน 2554

Summary:

1. ADB คาดเศรษฐกิจเอเชียในปี 54 ขยายตัวร้อยละ 7.8

2. ซีพีเอฟ เผยคำสั่งซื้ออาหารจากญี่ปุ่นเพิ่ม 20% หลังเหตุแผ่นดินไหวและสินามิ

3. โปรตุเกสเสนอขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU

Highlight:
1. ADB คาดเศรษฐกิจเอเชียในปี 54 ขยายตัวร้อยละ 7.8
  • ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของ 45 ประเทศในในภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 7.8 ในปี 54 และ 7.7 ในปี 55 โดยประเมินจากข้อมูลที่รวบรวมได้ถึงวันที่ 16 มี.ค. 54 สำหรับเศรษฐกิจไทย เอดีบีคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และ 4.8 ในปี 54 และ 55 ตามลำดับ เศรษฐกิจเอเชียฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากวิกฤตการเงินโลก ซึ่งสิ่งที่บ่งชี้ถึงสภาวะดังกล่าวคือการที่ธนาคารกลางในหลายประเทศของเอเชียพากันปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยล่าสุดเมื่อวานนี้ธนาคารกลางจีนประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากอีกร้อยละ 0.25
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของประเทศเอเชียในปี 54 มีทิศทางการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา นำโดยเศรษฐกิจประเทศจีน และอินเดีย ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ร้อยละ 9.0 และ 8.5 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังประสบภัยพิบัติสึนามิ ว่าจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวมากน้อยเพียงใด โดยในเบื้องต้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดการเงินระยะสั้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์จำนวน 15 ล้านล้านเยน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางการเงินของประเทศ ซึ่งถ้าหากการฟื้นตัวเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องคาดว่าจะลดผลกระทบที่เกิดต่อเศรษฐกิจไทยลงได้ โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังจะสามารถขยายตัวได้ดีในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0
2. ซีพีเอฟ เผยคำสั่งซื้ออาหารจากญี่ปุ่นเพิ่ม 20% หลังเหตุแผ่นดินไหวและสินามิ
  • นายสุชาติ สิทธิชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าขณะนี้มีคำสั่งซื้ออาหารในหมวดต่างๆจากประเทศญี่ปุ่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 20% แล้วหลังเหตุการณ์ภัยภิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ทำให้เอกชนผู้ผลิตสินค้าอาหารของไทยได้รับอานิสงคส์ในส่วนนี้ท่ามกลางความต้องการสินค้าประเภทอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสินามิในญี่ปุ่นทำให้การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบเพียงระยะสั้นเท่านั้น การฟื้นฟูประเทศหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ได้สร้างความเสี่ยหายต่อพื้นที่การเกษตรรวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆทำให้ญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อทดแทนสินค้าเกษตรภายในประเทศ วัสดุก่อสร้าง รวมทั้งก๊าซและน้ำมันดิบ ซึ่งญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 10.5 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 53 สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังญี่ปุ่น ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา แผงวงจรไฟฟ้า และไก่แปรรูป ทั้งนี้ ความต้องการสินค้าด้านอาหารของญี่ปุ่น จะส่งผลให้การส่งออกของไทยไปญีปุ่นมีแนวโน้มที่ดึขึ้น และช่วยลดผลกระทบเชิงลบในระยะสั้นได้
3. โปรตุเกสเสนอขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก EU
  • นายกรัฐมนตรีโฮเซ โซเครตีส ซึ่งกำลังจะลาออกจากตำแหน่ง แถลงว่าโปรตุเกสจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) หลังจากรัฐสภาไม่รับแผนรัดเข็มขัด (ตัดงบฯรายจ่าย) ที่เขาเสนอไป ซึ่งหากไม่ลงมือทำอะไร สถานการณ์ของประเทศจะยิ่งเลวร้ายลงอีก โดยนักวิเคราะห์เห็นว่ามาตรการกอบกู้เศรษฐกิจของโปรตุเกสอาจมีมูลค่า 70,000 ล้านยูโร เทียบกับ 85,000 ล้านยูโรสำหรับไอร์แลนด์ และ 110,000 ล้านยูโรสำหรับกรีซ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าโปรตุเกสจำเป็นต้องใช้กลไกของอียูเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้ เนื่องจากการกดดันของตลาดที่เรียกร้องผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุนในเครื่องมือหนี้ใหม่ๆ ของรัฐบาล โดย ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงมากสำหรับการขายพันธบัตรลอตใหม่ซึ่งระดมเงินไปได้ 1,005 ล้านยูโร แต่ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ต้องจ่ายให้นักลงทุนพุ่งเป็น 5.902% จาก 4.331% ในการขายครั้งก่อน ทั้งนี้ จากการที่โปรตุเกสมีสัดส่วนหนี้สาธารณะกว่า 1.16 เท่าของ GDP ทำให้เกิดความกังวลในเรื่องของการผิดนัดชำระหนี้ การขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อตราสารทางการเงิน และการเสื่อมค่าของทรัพย์สิน (Asset Price Deterioration)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ