ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมีนาคม 2554 และครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2011 08:37 —กระทรวงการคลัง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยเดือนมีนาคมรัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเกือบ 1.6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายเกิน 1 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 แล้ว

เดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 132,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เป็นผลจากเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้จัดเก็บภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสุรา สูงกว่าเป้าหมาย 3,377 2,412 2,254 และ 1,505 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่จัดเก็บได้สูงแม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ญี่ปุ่นนั้น เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีชิ้นส่วนที่นำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ (แต่จะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีในเดือนถัดๆ ไปได้) ประกอบกับผู้ประกอบการเร่งผลิตรถยนต์เพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากงาน Motor Show ส่วนภาษีสุราที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราจึงเร่งผลิตสินค้าล่วงหน้า

ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 793,410 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 104,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.7) โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 90,001 และ 7,483 ล้านบาท ตามลำดับ

นายนริศฯ สรุปว่า “จากการประเมินสถานการณ์ที่ประเทศญี่ปุ่น และอุทกภัยในภาคใต้แล้ว คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้รัฐบาลไม่มากนัก และคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2554 การจัดเก็บรายได้ยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย 1.77 ล้านล้านบาท อย่างแน่นอน”

เอกสารแนบ

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมีนาคม 2554

และครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นประจำเดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 132,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 15,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 ส่งผลให้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเท่ากับ 793,410 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 104,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.7) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนมีนาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 132,263 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,930 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.3) เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 โดยภาษีที่เก็บจากฐานการบริโภคและการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีมูลค่าเพิ่ม อากรขาเข้า และภาษีสุรา สูงกว่าเป้าหมาย 3,377 2,412 2,254 และ 1,505 ล้านบาท หรือร้อยละ 63.1 5.2 31.8 และ 35.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่สูงกว่าเป้าหมายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ประกอบการยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น เพราะยังมีชิ้นส่วนที่นำเข้าจากญี่ปุ่นอยู่ และยังเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากงาน Motor Show อย่างไรก็ดี คาดว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวฯ จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีรถยนต์ในเดือนถัดไป สำหรับภาษีสุราที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย เป็นผลจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการเพิ่มอัตราภาษีสุราจึงเร่งผลิตสินค้าไว้ล่วงหน้า

2. ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 793,410 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 104,860 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกัน ปีที่แล้วร้อยละ 15.7) โดยเป็นการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 90,001 7,483 และ 4,756 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.2 21.5 และ 10.3 ตามลำดับ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 546,308 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 52,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.5) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะ สูงกว่าประมาณการ 23,066 14,626 9,190 และ 5,497 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 5.7 8.1 และ 49.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการร้อยละ 8.8 และ 3.3 ตามลำดับ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 228,201 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 30,568 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.0) เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับยอดการผลิตรถยนต์ยังอยู่ในระดับสูง แม้จะมีแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในญี่ปุ่นก็ตาม โดยสามารถจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษีน้ำมัน ภาษีเบียร์ และภาษียาสูบได้สูงกว่าประมาณการ 13,875 5,590 3,752 2,949 และ 2,870 ล้านบาท หรือร้อยละ 41.9 25.3 4.9 9.7 และ 10.8 ตามลำดับ

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 51,001 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,601 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 6.7) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าเป้าหมาย 6,574 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.2 สาเหตุสำคัญเกิดจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าโดยเฉพาะสินค้าประเภทรถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล เครื่องใช้กล เครื่องจักรไฟฟ้า และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น ทั้งนี้ การจัดเก็บอากรขาเข้าไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่นมากนัก โดยอัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2553 — กุมภาพันธ์ 2554) เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 และ 11.8 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 42,355 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,483 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 5.7) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 และเงินปันผลที่สูงกว่าประมาณการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง โรงงานยาสูบ กองทุนรวมวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน อย่างไรก็ดี บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินปันผลต่ำกว่าประมาณการ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 51,100 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,756 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.7) เนื่องจากมีรายได้ค่าใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจำนวน 2,378 ล้านบาท ส่งเร็วกว่าที่ประมาณการจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2554

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 103,071 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 3,584 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.4 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 84,379 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,621 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 และการคืนภาษีอื่นๆ 18,692 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,037 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.9

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 2554 นี้ การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. จะแบ่งการจัดสรรออกเป็น 12 งวด (จากเดิมจัดสรร 6 งวด) โดยมีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม 2 งวดแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม - พฤศจิกายน 2553) ในเดือนมกราคม 2554 รวม 11,266 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 886 หรือร้อยละ 8.5

สำนักนโยบายการคลัง

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0 273 9020 ต่อ 3500 และ 3566

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 41/2554 8 เมษายน 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ