ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 (ต.ค.53-ธ.ค.53) ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 3,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 8,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ1 แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าแล้วจะพบว่าดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเงินทุนปรับตัวลดลง สำหรับสาเหตุสำคัญของการที่ดุลการชำระเงิน และดุลบัญชีเงินทุนปรับตัวลดลง เนื่องจากมูลค่าการลงทุนโดยตรงปรับตัวลดลงอย่างมาก และการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้านี้ ทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้
คาดว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2554 (ม.ค.54-มี.ค.54) ดุลบัญชีเงินทุนจะเกินดุล 4,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 โดยสาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าและการเข้าเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ในส่วนของตราสารทุนปรับตัวลดลง ขณะที่ตราสารหนี้ทรงตัว
ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 3,442 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5,509 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 8,905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกินดุลบัญชีเงินทุนเกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคธนาคารที่นำเข้าเงินกู้ระยะสั้นจากต่างประเทศเพื่อมาปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเงินทุนไหลเข้าในภาครัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจากการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อพันธบัตรในตลาดรอง รวมถึงการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อตราสารทุนเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นอีกส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของการลงทุนอื่นๆ สุทธิด้วย
1.1 สถานการณ์การลงทุนโดยตรง ไตรมาส 4 ปี 2553
การลงทุนโดยตรงสุทธิในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าติดลบถึง 1,918 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลง 14 เท่า จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีมูลค่า 3,475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 152 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 1,557 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
1.2 สถานการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2553
การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 2,252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.28 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินทุนไหลออกมูลค่า 1,888 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศมีเงินทุนไหลออก (การซื้อหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยและโอนเงินออกประเทศ) มูลค่า 1,001 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 28.7
สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศมีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 3,253 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 7 เท่า
การลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศมีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 1,771 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จากต่างประเทศนั้น มีเงินทุนไหลเข้า 1,482 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่าจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการซื้อสุทธิ 40,144 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าจะพบว่าปรับตัวสูงขึ้นถึง 3.4 เท่า สาเหตุที่มีการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น และนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันการลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าเช่นกัน ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 53,103 ล้านบาท
1.3 สถานการณ์การลงทุนอื่น ๆ ไตรมาส 4 ปี 2553
การลงทุนอื่น ๆ สุทธิไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีเงินทุนไหลเข้า 3,108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การลงทุนอื่นๆ ของชาวต่างประเทศในประเทศไทยนั้นได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าถึง 5,118 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่การลงทุนอื่นๆ ของชาวไทยในต่างประเทศก็ลดลงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งมูลค่าการลงทุนในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าติดลบถึง 2,010 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
การลงทุนอื่นๆ ของชาวต่างชาติในประเทศไทยนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการให้สินเชื่อของชาวต่างประเทศ ซึ่งมีมูลค่า4,417 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553
คาดว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ดุลการชำระเงินเกินดุลประมาณ 5,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเงินทุนเกินดุลอยู่ที่ 4,408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 16.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 2553 ร้อยละ 28.1 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของไทยลดลงขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
คาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยการลงทุนโดยตรงสุทธิที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศชะลอตัวลง ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศค่อนข้างคงที่
คาดว่าการลงทุนในตราสารทุนของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จะมีมูลค่าเงินทุนไหลออก 492 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากข้อมูลการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่านักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มการเทขายหลักทรัพย์ไทยทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ อันเนื่องมาจากปัญหาการเมืองในประเทศตะวันออกกลาง การเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน
สำหรับการลงทุนอื่น ๆ คาดว่ามีการไหลเข้าประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าประมาณ 14 เท่า
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th