Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 เมษายน 2554
Summary:
1. สมาคมปาล์มน้ำมันคาดผลผลิตลดลง จากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้
2. โรงงานโตโยต้าญี่ปุ่นเริ่มผลิตรถยนต์ครั้งแรกหลังเหตุการณ์สึนามิ
3. S&P ประเมินแนวโน้มในทางลบต่ออันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐ
Highlight:
1. สมาคมปาล์มน้ำมันคาดผลผลิตลดลง จากปัญหาน้ำท่วมภาคใต้
- เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ว่าได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตปาล์มสด โดยเฉพาะใน จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จึงคาดว่าผลผลิตปาล์มสดจะลดลง สำหรับการดูแลผู้บริโภค เชื่อว่า หากมีการบริหารจัดการที่ดี น้ำมันปาล์มจะไม่ขาดแคลน สำหรับการรับซื้อผลผลิตปาล์มจากเกษตรกรอาจลดหลั่นตามคุณภาพของผลผลิต
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาจากช่วง 1-2 ปีที่แล้ว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยผลผลิตหดตัวเฉลี่ยร้อยละ -5.0 ส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 21.6 ในปี 53 ดังนั้น ปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง อย่างไรก็ตาม ผลกระทบดังกล่าว คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น อีกทั้งปริมาณน้ำในภาคใต้ที่สามารถกักเก็บไว้ได้ จะเป็นปัจจัยบวกในระยะต่อไป เนื่องจากจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในฤดูแล้งนี้ได้ในระดับหนึ่ง
2. โรงงานโตโยต้าญี่ปุ่นเริ่มผลิตรถยนต์ครั้งแรกหลังเหตุการณ์สึนามิ
- บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เปิดเผยว่า โรงงานทุกแห่งทั่วประเทศในญี่ปุ่นได้เริ่มการผลิตรถยนต์เป็นครั้งแรกในสัปดาห์นี้ นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตาม จะทำการผลิตเพียงครึ่งหนึ่งของกำลังการผลิตตามปกติ เพราะประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน เนื่องจากภัยพิบัติดังกล่าว ได้สร้างความเสียหายต่อโรงงานผลิตชิ้นส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์ครั้งใหญ่ และทำให้โตโยต้าสูญเสียการผลิตรถยนต์ภายในประเทศไปถึง 260,000 คัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาภัยพิบัติสึนามิในประเทศญี่ปุ่น จะทำให้ภาคการผลิตของญี่ปุ่นหยุดชะงักลงบ้าง โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ในประเทศ เนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนประกอบยานยนต์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าไทยจะส่งออกสินค้าดังกล่าวได้มากขึ้น เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิต (Hub) ชิ้นส่วนยานยนต์ของบริษัทผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นหลายบริษัท โดยในปี 53 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอันดับ 1 ของไทย โดยมีสัดส่วนร้อยละ 15.7 ของการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดและขยายตัวในระดับสูงร้อยละ 37.3
3. S&P ปรับลดระดับแนวโน้มระยะยาวของความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ
- บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดระดับแนวโน้มระยะยาวของอันดับความน่าเชื่อถือสหรัฐฯ จากเดิมระดับ “มีเสถียรภาพ” เป็น “เชิงลบ” แม้จะยังคงอันดับความน่าเชื่อถือปัจจุบันไว้ที่ AAA โดยเล็งเห็นถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มการขาดดุลงบประมาณและมีแผนเพิ่มเพดานหนี้ไปอยู่ที่ระดับ 20.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 59 โดยสมาชิกพรรครีพับลิกันเห็นชอบเพิ่มเพดานหนี้ขั้นต่ำไปอยู่ที่ระดับ 19.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาระเบียบวินัยทางการคลังไปจนสิ้นปี 56 และจะทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่ภายใต้แรงกดดันและอาจถูกปรับให้ลดต่ำลงกว่า AAA ได้
- สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ว่าสหรัฐฯ จะมีสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั้งการขยายตัวของการผลิตและการจ้างงาน โดยอัตราการว่างงานในเดือน มี.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 8.8 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.9 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทางการคลังของสหรัฐฯยังคงเปราะบาง ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาจากวิกฤตการเงินปี 50-51 โดยงบประมาณของสหรัฐฯ ขาดดุลต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 29 และคาดว่ายอดขาดดุลจะเพิ่มต่อเนื่องไปอยู่ที่ระดับ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในสิ้นปี 54 นี้ ขณะเดียวกันหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ใกล้ชนเพดานที่ตั้งไว้เดิมที่ 14.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้เผชิญความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการผิดนัดชำระหนี้ (Default risk) และจะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินในระยะต่อไป ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจจำเป็นต้องทบทวนการใช้นโยบายการคลัง เพื่อลดการขาดดุลการคลังในอนาคต
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th