สรุปมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเงินและการคลังของกระทรวงการคลัง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2011 10:05 —กระทรวงการคลัง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการการเงินและการคลังรวมถึงเรื่องทีเกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้นจำนวน 21 เรื่องตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์

มีมติเห็นชอบในหลักการเพื่อมุ่งเน้นในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมรถยนต์พัฒนาเทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิได้มุ่งเน้นด้านรายได้เป็นสำคัญ อนึ่ง กระทรวงการคลังได้กำหนดระยะเวลาของการมีผลบังคับใช้ของอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามโครงสร้างใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2557 เพื่อให้ผู้ประกอบการรถยนต์มีเวลาใน การปรับตัวประมาณ 3 ปี

2. ร่างพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ....

มีมติเห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว ซึ่งมีหลักการสำคัญใน 2 แนวทาง คือ

2.1 การแก้ไขข้อบกพร่อง อุดช่องโหว่ที่มีใน พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ โดยกำหนดบทบัญญัติให้มีความชัดเจน ครบถ้วน เช่น กระบวนการแก้ไขสัญญา และการต่อหรือขยายอายุสัญญา เป็นต้น

2.2 การกำหนดกระบวนการขึ้นใหม่ในการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐทั้งหมดให้มีความชัดเจน และเป็นระบบมากขึ้น โดยกำหนดให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐซึ่งเป็นแผนหลักระดับชาติในการกำหนดนโยบายการให้เอกชนเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมีมาตรฐาน ส่งผลให้ภาครัฐมีกลไกในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

3. มาตรการภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนไทย

มีมติเห็นชอบการดำเนินงานตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วย 5 มาตรการย่อย ดังนี้

3.1 มาตรการยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการลงทุนในตราสารการเงินที่ออกเพื่อระดมทุนตามหลักศาสนาอิสลาม (ศุกูก)

3.2 มาตรการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากเงินปันผลในระดับนิติบุคคล

3.3 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการ

3.4 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนโอนย้ายเงินออมในระบบการออมระยะยาว สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

3.5 มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงตลาดทุนไทยกับตลาดทุนในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน

4. การปรับปรุงโครงสร้างของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

มีมติเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ด้วยการจัดตั้งสำนักนโยบายพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน (สพช.) เพื่อรับผิดชอบการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนเชิงโครงสร้าง และเป็นหน่วยงานกลางที่สามารถมองแนวทางการดำเนินงานอย่างครบวงจร และผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรมโดยไม่ขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งนี้ การจัดตั้ง สพช. ไม่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐในระยะเริ่มแรก เนื่องจากเป็นการบูรณาการบทบาท ภารกิจที่เกี่ยวข้องที่กระจายอยู่ในส่วนงานอื่น ๆ ของ สศค. และสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังเข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้อัตรากำลังที่มีอยู่เดิม

5. การบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

มีมติเห็นชอบการรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) วงเงิน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้จากธนาคารโลก วงเงิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาและเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย วงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติการจัดสรรเงินกู้ DPL ภายใต้กรอบวงเงิน 30,529.14 ล้านบาท

6. แหล่งเงินสนับสนุนแผนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)

มีมติอนุมัติการใช้เงินกู้ SAL จำนวน 710 ล้านบาทในลักษณะการให้ยืม และเมื่อพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้และ สสค. มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีสุราและยาสูบในอัตราร้อยละ 1.5 ของภาษีที่จัดเก็บได้ให้ สสค.นำรายได้มาชดใช้คืนกระทรวงการคลังต่อไป ทั้งนี้ ให้จัดสรรเงินผ่าน สสส. โดยการใช้จ่ายเป็นไปตามข้อบังคับ ระเบียบและหลักเกณฑ์ของ สสส.

7. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติปี 2553 และ 2554 (เพิ่มเติม)

มีมติเห็นชอบมาตรการการเงินฯ ดังกล่าว โดยมีสาระสำคัญดังนี้

7.1 การขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2553

1) ขยายกลุ่มเป้าหมายในมาตรการการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ให้ครอบคลุมถึงเกษตรกรที่ประสบภัยจากพายุดีเปรสชั่นบริเวณภาคใต้ตอนล่างที่ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและประมงให้ได้รับสินเชื่อเพียงพอ

2) ขยายวงเงินสินเชื่อโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและวาตภัยปี 2553 โดย ธอท. เพิ่มอีก 887.56 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้ยื่นขอไว้ก่อนระยะเวลาสิ้นสุดรับคำขอสินเชื่อ (28 กุมภาพันธ์ 2554)

7.2 มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ปี 2554

1) เสนอหลักเกณฑ์ในการชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในโครงการสินเชื่อ SME POWER

2) เสนอมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบฯ ซึ่งมีวงเงินสินเชื่อต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาท (เป็นมาตรการปี 2554 ที่เสนอเพิ่มเติมกรณีของ ธ.ก.ส. และ ธพว.)

8. โครงการบ้านหลังแรก (ธอส.)

มีมติเห็นชอบโครงการดังกล่าวเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่เคยมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองให้สามารถซื้อบ้านเป็นของตนเอง โดยให้อัตราดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปี และอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนในปีต่อๆ ไป แต่ไม่เกิน 30 ปี ทั้งนี้ อายุผู้กู้หลักที่ใช้สิทธิรวมกับจำนวนปีที่ขอกู้ต้องไม่เกิน 65 ปี และ ธอส. จะรับภาระสำรองจ่ายครึ่งหนึ่งของค่าจดทะเบียนโอนร้อยละ 2 ของราคาประเมิน และรับภาระสำรองจ่ายค่าจดทะเบียนการจำนองร้อยละ 1 ของวงเงินจำนอง โดยผู้กู้สามารถติดต่อยื่นคำขอกู้เงินได้ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2554 จนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2554 และต้องทำนิติกรรมกับ ธอส. ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 เมษายน 2555

9. การให้ความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการก่อสร้างอันเนื่องมาจากเหตุอุทกภัย

มีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อสร้างที่ได้รับผลกระทบทางตรง หรือทางอ้อม อันเกิดจากอุทกภัยที่เกิดในช่วงวันที่ 10 ตุลาคม — 31 ธันวาคม 2553 โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ ดังนี้

9.1 พิจารณาให้ความช่วยเหลือใช้กับสัญญาจ้างก่อสร้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ

9.2 เป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ในช่วงวันที่ 10 ตุลาคม — 31 ธันวาคม 2553 เท่านั้น

9.3 จะต้องลงในสัญญาจ้างก่อนวันที่ 10 ตุลาคม 2553 หรือสัญญาจ้างที่ได้ลงนามไว้ตั้งแต่วันที่ ในช่วงวันที่ 10 ตุลาคม 2553 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ซึงยังมีนิติสัมพันธ์ และยังมิได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย หรือส่งมอบงานงวดสุดท้ายในช่วงเวลาดังกล่าว

9.4 สัญญาก่อสร้างที่ดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดที่ประกาศพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติด้วยเหตุอุทกภัย ให้ส่วนราชการพิจารณาขยายระยะเวลาก่อสร้างได้ตามจำนวนวันที่เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นจริงและบวกเพิ่มระยะเวลาฟื้นฟูภายหลังน้ำลดอีก 60 วัน ถ้าสัญญาเดิมน้อยกว่า 60 วันก็ให้บวกเท่ากับอายุสัญญาเดิมต่อจากเวลาที่ขยาย

9.5 กรณีที่อยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่มีประกาศพื้นที่ประสบภัยฯ หากสัญญาอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน และได้รับผลกระทบจาการไม่สามารถทำงานหรือส่งมอบงานได้ ก็ให้ขยายเวลาได้ตามจำนวนวันที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่เกิน 30 วัน

9.6 ผู้เดือดร้อนต้องยื่นคำร้องต่อหน่วยงานคู่สัญญาภายใน 30 วัน นับแต่คณะรัฐมนตรีมีมติ

10. ยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาการประกันภัยพืชผลและโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554

การสร้างระบบประกันความเสี่ยงอันเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับเกษตรกร ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนที่สำคัญของคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) แถลงต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ซึ่งคณะทำงานการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาการประกันภัยพืชผลได้จัดทำยุทธศาสตร์ฯ และคณะกรรมการพิจารณากรอบแนวทางการประกันภัยพืชผล โดยกระทรวงการคลังในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้เร่งดำเนินการเสนอโครงการรับประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2554 เพื่อให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกับมาตรการต่างๆ ที่รัฐดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และโครงการประกันรายได้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีหลักประกันที่มั่นคงอย่างครบวงจรในกระบวนการผลิตนับตั้งแต่เริ่มต้นการเพาะปลูกจนถึงกระบวนการจำหน่ายผลผลิต

11. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ

มีมติเห็นชอบตามมาตรการดังกล่าวเพื่อปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศที่เคยให้ไว้แล้วตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 442 อันจะเป็นการช่วยสนับสนุนการขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในการไปลงทุนประกอบการในต่างประเทศ โดยการขจัดปัญหาและอุปสรรคในการลงทุนในต่างประเทศของภาคเอกชนในหลายประเด็น อาทิ กรณีการลงทุนในผ่าน Holding Company ในต่างประเทศ สัดส่วนการลงทุนในบริษัทต่างประเทศที่กำหนดไว้สูงเกินไป หรือกรณีการลงทุนในบริษัทต่างประเทศที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ

12. ร่างกฎกระทรวง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้เงิน พ.ศ. ....

มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว เพื่อให้ผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 สามารถนำสิทธิในบำเหน็จตกทอดไปเป็นหลักประกันการกู้เงินได้เช่นเดียวกับผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2549 เพื่อช่วยเหลือการครองชีพของผู้รับบำนาญ

13. การปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค

มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงบทลงโทษตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 508/2554) เรื่องสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค ซึ่งต้องเสียภาษีย้อนหลังตั้งแต่ปีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคมีคุณสมบัติไม่ครบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาฯ โดยได้มีการแก้ไขบทลงโทษให้มีบทลงโทษย้อนหลังตั้งแต่ปีแรกเฉพาะกรณีที่ผิดเงื่อนไขเรื่อง ทุนจดทะเบียน จำนวนวิสาหกิจในเครือในต่างประเทศ การมีสถานประกอบการจริงในต่างประเทศ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงาน ส่วนกรณีหากมีการผิดเงื่อนไข ด้านรายจ่ายในการดำเนินงานในประเทศไทย หรือรายจ่ายเพื่อการลงทุนในประเทศไทย หรือกรณีพนักงานมีทักษะความรู้ขั้นต่ำไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ให้หมดสิทธิการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะปีที่ผิดเงื่อนไขเท่านั้น

14. มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม (กรณีผู้ประกอบการที่มีกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่ได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย)

มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาและปรับปรุงหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการขอสินเชื่อจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม (กรณีผู้ประกอบการที่มีกรมธรรม์ประกันภัยยังไม่ได้รับสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย) และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการซึ่งอยู่ระหว่างฟ้องร้องดำเนินคดีบริษัทประกันภัยตามโครงการราชประสงค์ฯ (วงเงิน 2,000 ล้านบาทเดิม)

15. มีมติเห็นชอบการพิจารณาบำเหน็จความชอบเป็นกรณีพิเศษให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยในส่วนของปฏิบัติการประชาวิวัฒน์

16. มีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องโครงการติดตั้งระบบวงจรปิด (Closed Circuit Television System : CCTV) และระบบเทคโนโลยีอื่นที่เหมาะสมกับการควบคุมทางศุลกากร

17. มีมติเห็นชอบความคืบหน้าในการกู้เงิน Short Term Facility สำหรับรัฐวิสาหกิจ วงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท

18. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลดังมีรายชื่อต่อไปนี้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ดังนี้ 1) นายวัฒนา รัตนวิจิตร 2) นายดุสิต นนทะนาคร 3) ศาสตราจารย์พิเศษชูเกียรติ ประมูลผล 4) นายการุณ กิตติสถาพร 5) นายโกวิทย์ โปษยายนนท์ และนางธาริษา วัฒนเกส แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้ครบกำหนดการตำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2553

19. มีมติเห็นชอบแต่งตั้งนางสาวนวพร เรืองสกุล เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แทนนายวิจิตร สุพินิจ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป

20. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน โดยการแต่งตั้งนายประสิทธิ์ สืบชนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการฯ แทนกรรมการที่ลาออกไป

21. มีมติเห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยการแต่งตั้งพลตำรวจโทสุรสีห์ สุนทรศารทูร เป็นกรรมการฯแทนกรรมการที่ลาออกไป

กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

โทร 0-2273-9021

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 56/2554 6 พฤษภาคม 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ