เงินทุนโลก ตลาดตราสารหนี้ไทยและวิกฤตการเงินครั้งต่อไป?

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2011 12:31 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

ในสี่เดือนแรกของปี 2554 เงินทุนจากต่างชาติได้ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ของไทยถึง 400,000 ล้านบาทสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและมีคำถามว่าเงินทุนจะไหลเข้าต่อไปอีกหรือไม่ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีดังนี้

1. การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยมากขึ้น โดยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลให้นักลงทุนมีกำไรที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีการขายตราสารหนี้และแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ

2. ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากกว่า ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มอัตราผลดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้นเพื่อดูแลเรื่องเงินเฟ้อ

3. ความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง ส่งผลให้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน และดึงดูดให้เม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้น

4. นักลงทุนต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์การเมืองความไม่สงบในตะวันออกกลาง และเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนจากตลาดตราสารทุนที่มีความผันผวนและความเสี่ยงสูงกว่ามายังตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้นสำหรับแนวโน้มของเงินทุนต่างชาตินั้นคาดว่ายังมีเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องจากทิศทางการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ และการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในระดับต่ำต่อเนื่องในขณะที่ประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับที่สูงกว่าการขยายตัวของประเทศสหรัฐและยุโรปมาก

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. การควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการขึ้นราคาของหลักทรัพย์ทรัพย์ สถาบันการเงินควรมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และในส่วนของภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อชะลอความร้อนแรงของสินทรัพย์โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านและคอนโดมิเนียมราคาสูง

2. การเตรียมใช้มาตราการจำกัดเงินทุนไหลเข้าและมาตรการรองรับการไหลออกอย่าง โดยควรมีการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการควบคุมเงินทุนไหลเข้า

3. การสนับสนุนให้มีการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกมีความสมดุลกัน ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท

4. การพัฒนากฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในสี่เดือนแรกของปี 2554 เงินทุนจากต่างชาติได้ไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้ของไทยถึง 400,000 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ สร้างความกังวลให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและมีคำถามว่าเงินทุนจะไหลเข้าต่อไปอีกหรือไม่ บทความนี้ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ในตลาดตราสารหนี้ของไทยในปัจจุบัน โดยระบุถึงสาเหตุของการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แนวโน้มในอนาคต รวมทั้งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยสูงเป็นประวัติการณ์

ในช่วงสี่เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าการเข้ามาลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 400,000 ล้านบาท เปรียบเทียบกับการเข้ามาลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติในปี 2553 ทั้งปี ที่มีมูลค่าประมาณ 300,000 ล้านบาท นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับการเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารทุน จะพบว่าปริมาณการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้สูงกว่าปริมาณการซื้อขายสุทธิสะสมในตลาดตราสารทุนเป็นจำนวนมากโดยตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา มีปริมาณการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ประมาณ 770,000 ล้านบาท ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารทุนมีประมาณ 150,000 ล้านบาท

การเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี ในขณะที่การซื้อขายพันธบัตรรัฐบาลจะเน้นไปในกลุ่มตราสารหนี้ระยะกลางที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 5 ปี เนื่องจากมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาค่อนข้างต่ำ จึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

สัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี 2553 เป็นต้นมา โดยสัดส่วนของนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลต่อปริมาณพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด ได้เพิ่มจากร้อยละ 3.23 ในต้นปี 2553 เป็นร้อยละ 7.22 ในต้นปี 2554

ปัญหาสภาพคล่องล้นในตลาดโลกซึ่งส่งผลให้มีการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงและความผันผวนต่อเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการลงทุนในตราสารระยะสั้น ซึ่งหากประเทศไทยไม่มีการเตรียมการรองรับและไม่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี อาจเป็นการนำมาซึ่งวิกฤตการเงินรอบใหม่ในตลาดตราสารหนี้ไทยได้

2. ปัจจัยที่มีผลต่อการไหลเข้าของเงินทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย

2.1 การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขายเก็งกำไรในตลาดตราสารหนี้ในประเทศไทยมากขึ้น โดยค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐจะส่งผลให้นักลงทุนมีกำไรที่สูงขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อมีการขายตราสารหนี้และแลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) ในวันที่ 7 เมษายน 2554 จากร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 1.25 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2551 และ การที่สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐจากระดับ "มีเสถียรภาพ" ลงสู่ "เชิงลบ" ในวันที่ 18 เมษายน 2554 เนื่องจากมีความกังวลถึงการแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะของสหรัฐที่พุ่งสูงขึ้นและปัญหาการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้เงินยูโรแข็งค่าขึ้นและเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงอีก ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ ทำให้เงินทุนไหลออกจากสหรัฐไปสู่ประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณ 150,000 ล้านบาท ซึ่งนับว่ามีปริมาณสูงสุดในรอบ 2 ปี

การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรปมีสาเหตุสำคัญมาจากเงินเฟ้อในสหภาพยุโรปได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 3.1 สูงขึ้นจากร้อยละ 2 ในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากราคาอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ และราคาน้ำมันที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น

2.2 ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย โดยอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีความน่าสนใจมากกว่าทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศพัฒนาแล้วไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มอัตราผลดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาขึ้นเพื่อดูแลเรื่องเงินเฟ้อ

2.3 ความแตกต่างของการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้ว โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็ว อันเป็นผลมาจากการมีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจสูง สะท้อนให้เห็นว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี ซึ่งสวนทางกับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วที่ยังคงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่งผลให้เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รวมทั้งประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุน และดึงดูดให้เม็ดเงินจากต่างชาติไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้มากขึ้น

2.4 นักลงทุนต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์การเมือง ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติต่างๆ ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุนจากตลาดตราสารทุนที่มีความผันผวนและความเสี่ยงสูงกว่ามายังตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น

3. ผลกระทบต่อประเทศไทย

3.1 เงินบาทแข็งค่า เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเงินบาทแข็งค่ากว่าร้อยละ 3 จากที่ระดับ 30.884 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนกุมภาพันธ์มาอยู่ที่ 29.936 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนเมษายน ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องยังเป็นการเพิ่มโอกาสในการเก็งกำไรค่าเงินของนักลงทุน

3.2 ปัญหาฟองสบู่ การไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก นำไปสู่ปัญหาฟองสบู่ทั้งในตลาดหุ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในประเทศอีกด้วย

3.3 ความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุนอย่างฉับพลัน เงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้น โดยในขณะที่ความคาดหวังอัตราเงินเฟ้อในอนาคต (Inflation Expectations) และดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้นนักลงทุนมักจะซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงราคาค่อนข้างน้อย ซึ่งการซื้อขายตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาตินี้ อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากการเก็งกำไรในตราสารหนี้และการไหลออกอย่างฉับพลันของเงินทุน (Sudden Stops หรือ Capital Flow Reversals) ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดังเช่นการเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย ในช่วงปี 2540

4. แนวโน้มในอนาคต

คาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง สาเหตุจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ความแตกต่างของดอกเบี้ยและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศพัฒนาแล้วที่คาดว่าจะส่งผลต่อไปอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่าสหรัฐยังคงใช้นโยบายการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) ซึ่งเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบโดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายอัตราดอกเบี้ย โดยหากสหรัฐมีการต่อนโยบาย QE ในรอบที่สาม(นโยบาย QE รอบสองจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนนี้) หรือมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจส่งผลให้มีเงินทุนบางส่วนไหลกลับเข้าสู่สหรัฐอย่างไรก็ดี แม้ว่าการดำเนินนโยบาย QE ที่ผ่านมาไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจของสหรัฐตามที่คาดไว้ โดยอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐไม่ได้ลดลงเท่าที่ควร แต่นักลงทุนบางส่วนเชื่อว่าสหรัฐน่าจะต่อนโยบาย QE ในรอบที่สาม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐยังซบเซาและตลาดการเงินยังไม่แข็งแกร่งพอ

5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

5.1 การควบคุมการปล่อยสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินจากการขยายตัวของสินเชื่อ และการขึ้นราคาของหลักทรัพย์ทรัพย์ สถาบันการเงินควรมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ และในส่วนของภาครัฐควรมีมาตรการเพื่อชะลอความร้อนแรงของสินทรัพย์โดยเฉพาะในกลุ่มบ้านและคอนโดมิเนียมราคาสูง เช่นการกำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำของอสังหาริมทรัพย์ให้สูงขึ้น การควบคุมสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วยการปรับลดสัดส่วนการปล่อยกู้ตามมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันและการลดวงเงินสินเชื่อสำหรับการซื้อหลักทรัพย์ เป็นต้น

5.2 การเตรียมใช้มาตราการจำกัดเงินทุนไหลเข้า โดยควรมีการประสานงานเพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการควบคุมเงินทุนไหลเข้าของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

5.3 การสนับสนุนให้มีการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกมีความสมดุลกัน ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาท

5.4 การพัฒนากฎระเบียบและโครงสร้างพื้นฐานของตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โดย กุลวีร์ สภาวสุ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ