ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 23, 2011 09:04 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเผยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ฐานะการคลังยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง และคาดว่ามาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะไม่กระทบต่อฐานะการคลังตลอดปีงบประมาณนี้

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (ผอ.สศค.) แถลงข่าวฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ว่ารัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 916,238 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 67,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลจาก 3 กรมจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,298,869 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 219,327 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3 ทำให้ดุลเงินงบประมาณขาดดุล 382,631 ล้านบาท เมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 61,082 ล้านบาท จากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดรวม 443,713 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 129,605 ล้านบาท ทำให้ดุลเงินสดหลังกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 314,108 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนเมษายน 2554 มีจำนวน 115,215 ล้านบาท

นายนริศ กล่าวสรุปว่า “ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล แต่จากสถานการณ์เศรษฐกิจและการคลังที่อยู่ในระดับที่ดีมาตลอด ทำให้ สศค. มั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานะการคลัง โดยคาดว่าเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 จะมีจำนวนประมาณ 3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่มั่นคง”

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554

หน่วย: ล้านบาท

                                            7 เดือนแรก                     เปรียบเทียบ
                                      ปีงบประมาณ      ปีงบประมาณ         จำนวน       ร้อยละ
                                            2554           2553
1. รายได้                                 916,238        848,943         67,295       7.9
2. รายจ่าย                              1,298,869      1,079,542        219,327      20.3
3. ดุลเงินงบประมาณ                        -382,631       -230,599       -152,032      65.9
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                      -61,082        -62,915          1,833      -2.9
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                    -443,713       -293,514       -150,199      51.2
๖. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล                  129,605        175,572        -45,967     -26.2
๗. ดุลเงินสดหลังกู้ (๕+๖)                    -314,108       -117,942       -196,166     166.3

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก www.fpo.go.th สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02-273-9020 ต่อ 3568

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 62/2554 20 พฤษภาคม 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ