Macro Morning Focus ประจำวันที่ 3 มิถุนายน 2554
1. พาณิชย์ห่วงปัญหาราคาอาหาร พร้อมเรียกผู้ค้าไข่ไก่-หมู ถกลดราคาสัปดาห์หน้า
2. ธปท.สนับสนุนการไปลงทุนในต่างประเทศของเอกชนไทยมากขึ้น.
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 54 อยูที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 เดือนที่ 53.5
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีความเป็นห่วงต่อปัญหาราคาอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคไปพึ่งอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ขณะที่ราคาวัตถุดิบอาหารแพง จึงให้กรมการค้าภายในขอความร่วมมือกับห้างต่างๆ เพิ่มเมนูอาหารราคา 25 บาท ในศูนย์อาหาร นอกจากนี้ จะเป็นตัวกลางจัดหาวัตถุดิบในตลาดเพื่อลดต้นทุนให้กับร้านอาหารทั่วไป นอกจากนั้น ในสัปดาห์หน้ากรมการค้าภายในจะเรียกผู้ประกอบการไข่ไก่และเนื้อหมูมาหารือ เพื่อประเมินสถานการณ์และต้นทุนราคาสินค้าใหม่ ให้ปรับลดราคาลงอีก
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นผลมาจากปัจจัยหลักจากด้านอุปทาน โดยอุปทานอาหารได้รับผลกระทบโดยตรงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน เนื่องจากก่อนหน้านี้สภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผลผลิตอาหารบางประเภท เช่น ไข่ไก่ ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอรองรับอุปสงค์ได้ ขณะที่ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งส่งผลลบต่อผลผลิตสินค้ากสิกรรมเช่นเดียวกัน ปัจจัยต่างๆที่ได้กล่าวมานี้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ เดือน พ.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.19 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 4.04 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารสดและพลังงาน เดือน พ.ค. 54 อยู่ที่ร้อยละ 2.48 เร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.07 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54 ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 54 จะอยู่ที่ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.1 - 4.1 และจะมีการปรับประมาณการอีกครั้ง ณ ปลายเดือนมิ.ย. 54 นี้
- ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในงานสัมมนาตลาดทุนกับการเพิ่มการขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ว่า ธปท.เห็นด้วยที่สนับสนุนให้เกิดการไปลงทุนในต่างประเทศของเอกชนไทยมากขึ้น เพื่อช่วยความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีสูง โดยในช่วงที่ผ่านมานั้น ธปท.ได้เปิดโอกาสโดยให้โควตาการลงทุนในต่างประเทศ ให้กับกองทุนในประเทศไทยผ่านการอนุญาตของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) จำนวน 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่ผ่านมาเนื่องจากความรู้อาจจะมีน้อย ทำให้มีเงินออกไปลงทุนจริง 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ซึ่งหากมีการให้ความรู้จะทำให้การไปลงทุนในต่างประเทศทำได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีการเงินและตลาดทุนมากขึ้น ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเช่นกันเพราะเศรษฐกิจไทยจะมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมาขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า การสนับสนุนให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมาขึ้นจะเป็นการช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งขึ้นจากปัจจัยพื้นฐานของการเกินดุลของบัญชีเดินสะพัด (Current Account) และบัญชีเงินทุน (Financial Account) ของไทย นอกจากนั้น ธปท. มีแผนที่จะดำเนินการเพื่อพัฒนาตลาดเงินของไทยในมีความกว้างและลึก ขึ้น โดย 1 ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จะออกแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศออกมา ซึ่งจะเป็นแผนที่จะช่วยดูแลอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทและเสถียรภาพของเงินทุนเคลื่อนย้ายให้มีมากขึ้น
- ผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ สะท้อนจาก factory index เดือน พ.ค. 54 อยูที่ระดับ 53.5 ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 60.4 จากการผลิตในหมวดยานยนต์ที่ชะลอลงจากการขาดชิ้นส่วนบางประเภทหลังบริษัทใหญ่หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นต้องหยุดทำการลงจากผลกระทบของภัยพิบัติซึนามิ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลง โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากฝั่งอุปทานที่ชะลอลง ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด จะพบว่า ปัจจัยหลักมาจากการผลิตในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ลดลง ซึ่งเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว กล่าวคือ การผลิตในหมวดอุตสาหกรรมยานยนต์ดังกล่าวจะกลับเป็นปกติหลังจากที่บริษัทยานยนต์ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยซึนามิ เริ่มเปิดทำการตามปกติในเดือน ส.ค. 54 อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะทรงตัวอยูในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ และอาจส่งผลต่อการผลิต รวมไปถึงการบริโภคในระยะต่อไป
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th