รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 6, 2011 12:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มิถุนายน 2554

Summary:

1. อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ไทยแข็งแกร่ง เดินหน้าย้ายฐานการผลิตเพิ่มเติมไปยังต่างประเทศ

2. บอร์ดบีโอไอ เตรียมลงทุน 9 โครงการ มูลค้า 2.5 หมื่นล้านบาท

3. ตัวเลขจ้างงานและอัตราว่างงานสหรัฐฯ เดือน พ.ค 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

Highlight:
1. อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ไทยแข็งแกร่ง เดินหน้าย้ายฐานการผลิตเพิ่มเติมไปยังต่างประเทศ
  • สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าปัจจุบันผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยมีการลงทุนใน สปป. ลาว และกัมพูชา ซึ่งผลประกอบการอยู่ในทิศทางที่ดี และเริ่มศึกษาเพื่อขยายการลงทุนใหม่เพิ่มเติมไปยัง บังคลาเทศ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากต้นทุนการผลิตในประเทศที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงที่สูงชึ้น ประกอบกับสภาวะการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมสาขาดังกล่าว ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยถือว่ามีความแข็งแกร่งมาก เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากครบวงจรทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการปั่น การทอ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 54 อยู่ที่ระดับ 69.6 หรือขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยังเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะเส้นใยฝ้ายและใยสังเคราะห์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเกิดจากความแปรปรวนของอากาศและภัยธรรมชาติ ขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำ ในช่วง 4 เดือนของปี 54 อยู่ที่ระดับ 127.1 หรือหดตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานการผลิตสูงในปี 53 หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไปยังต่างประเทศที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
2. บอร์ดบีโอไอ เตรียมลงทุน 9 โครงการ มูลค้า 2.5 หมื่นล้านบาท
  • แหล่งข่าวกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าในวันที่ 6 มิ.ย. 54 นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุน 9 โครงการ มูลค่ารวม 2.5 หมื่นล้านบาท ถึงแม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยจะอยู่ระหว่างการเลือกตั้ง เปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่นักลงทุนก็ยังสนในเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการผลิตโคมไฟยานพาหนะของบริษัท ไทย โคะอิโท มูลค่าการลงทุน 3,910 ล้านบาท และโครงการผลิต Butene-1 มูลค่าการลงทุน 2,960 ล้านบาท เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยในปี 53 ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านพ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปี 52 โดยพบว่า การออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในปี 53 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 4.9 แสนล้านบาท เทียบกับปี 52 ที่อยู่ระดับ 2.9 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งนี้ คาดว่า ปัจจัยเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 54 จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาว มีแผนการลงทุนมากกว่า 10 ปี นอกจากนั้น จากตัวเลขการลงทุนล่าสุด พบว่า ในช่วงเดื่อน ม.ค. —ส.ค. 54 มียอดอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนแล้วกว่า 3 แสนล้านบาท
3. ตัวเลขจ้างงานและอัตราว่างงานสหรัฐฯ เดือน พ.ค 54 ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่าในเดือน พ.ค. 54 ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 54,000 ตำแหน่ง ชะลอลงมากเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้น 232,000 ตำแหน่ง เนื่องจากภาคเอกชนสร้างงานใหม่เพียง 83,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาครัฐลดการจ้างงาน 29,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราว่างงานในเดือน พ.ค. 54 อยู่ในระดับสูงและขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.1 จากร้อยละ 9.0 ในเดือน เม.ย. 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากธุรกิจภาคบริการเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีภาคบริการ (Non-Manufacturing Index: NMI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 54.6 ในเดือน พ.ค. 54 จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 52.8 สำหรับอัตราว่างงานในเดือน พ.ค.54 ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการลดจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์จากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากภัยพิบัติสึนามิที่ญี่ปุ่น การค้าขายปลีก ธุรกิจโรงพยาบาล และภาครัฐ โดยตัวเลขภาวะการว่างงานดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ การที่อุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯได้ลดความร้อนแรงลง ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันอาจส่งผลลบต่อการบริโภคภาคเอกชนและ GDP ของสหรัฐฯ ในปี 54 ทำให้เป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0 ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 54 ไว้ที่ร้อยละ 2.9 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ