นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2554 สูงกว่าเป้าหมายถึง 5.3 หมื่นล้านบาท จากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิที่สูงกว่าเป้าหมายมาก ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 จัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมายเกิน 1.7 แสนล้านบาทแล้ว
เดือนพฤษภาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 351,227 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 53,529 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.0 สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้เป็นจำนวนมากถึง 180,606 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 54,526 ล้านบาท เนื่องจากการยื่นชำระภาษีจากกำไรสุทธิของนิติบุคคลรอบสิ้นปีบัญชี 2553 (ภ.ง.ด.50) ขยายตัวในอัตราที่สูง โดยผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยขยายตัวในอัตราร้อยละ 30.7 นอกจากนี้ การบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวในอัตราสูงส่งผลให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 11,476 และ 1,012 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 และ 15.4 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการ 7,674 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5.305 บาท เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2554
ในเดือนนี้ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 5 จำนวน 6,242 ล้านบาท
ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — พฤษภาคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,271,798 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 174,076 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าเป้าหมาย 126,200 29,450 8,145 และ 12,749 ล้านบาท ตามลำดับ
นายนริศฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่สูงกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับทิศทางภาวะเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง กระทรวงการคลังมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2554 จะจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย (1.65 ล้านล้านบาท) เกินกว่า 120,000 ล้านบาท อย่างแน่นอน แม้จะมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงก็ตาม”
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2554
และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเบื้องต้นประจำเดือนพฤษภาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 351,227 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 53,529 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — พฤษภาคม 2554) จัดเก็บได้ 1,271,798 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 174,076 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
1. เดือนพฤษภาคม 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 351,227 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 53,529 ล้านบาท หรือร้อยละ 18.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.6) สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูงกว่าประมาณการ 54,526 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนนี้ ครบกำหนดการชำระภาษี เงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีระหว่าง 1 มกราคม — 31 ธันวาคม 2553 (ภ.ง.ด. 50) ซึ่งผลกำไรของธุรกิจต่างๆ ในช่วงปี 2553 ขยายตัวในอัตราที่สูงมาก ทำให้จัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 180,606 ล้านบาท สอดคล้องกับผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 30.7 นอกจากนี้ การบริโภคและการนำเข้ายังคงขยายตัวต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 จะซึ่งช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอีกทางหนึ่ง ส่งผลให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 11,476 และ 1,012 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.2 และ 15.4 ตามลำดับ
สำหรับรายได้นำส่งของรัฐวิสาหกิจสูงกว่าประมาณการ 2,593 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จ่ายเงินปันผลสูงกว่าที่ประมาณการไว้
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และภาษียาสูบในเดือนนี้ต่ำกว่าประมาณการ 7,674 และ 577 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราว ลิตรละ 5.305 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2554 รวมทั้งโรงงานยาสูบมีการหยุดการผลิต จากการประท้วงของพนักงาน นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการเร่งผลิตยาสูบเพื่อชำระภาษีไว้ล่วงหน้า เนื่องจากคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษี
ในเดือนนี้ได้มีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ งวดที่ 5 จำนวน 6,242 ล้านบาท
2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — พฤษภาคม 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,271,798 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 174,076 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.0) สาเหตุสำคัญเกิดจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษี การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ 163,795 12,749 และ 8,707 ล้านบาท ตามลำดับ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 964,181 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 126,200 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.4) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าประมาณการ 81,346 29,756 และ 12,857 ล้านบาท หรือร้อยละ 34.0 8.5 และ 8.5 ตามลำดับ โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศ สูงกว่าประมาณการร้อยละ 10.8 และ 6.8 ตามลำดับ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 291,661 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 29,450 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.0) เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัว ประกอบกับคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราและภาษียาสูบ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเบียร์ ได้สูงกว่าประมาณการ 18,368 6,389 3,764 และ 2,719 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.2 22.0 10.6 และ 6.8 ตามลำดับ สำหรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,552 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราวที่มีผลตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2554
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 66,405 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,145 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.3) เนื่องจากจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 8,084 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.3 เป็นผลจากการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นก็ตาม ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — เมษายน 2554) เท่ากับร้อยละ 24.6 และ 14.1 ตามลำดับ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 76,329 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,749 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.8) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิ ปี 2553 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง และธนาคารออมสินสูงกว่าประมาณการ 3,715 1,266 1,162 และ 1,050 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ เงินปันผลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมวายุภักษ์ยังสูงกว่าประมาณการ 1,677 และ 1,100 ล้านบาท ตามลำดับ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 72,092 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,707 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 37.7) เนื่องจากมีการนำส่งค่าภาคหลวงปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ 3,650 ล้านบาท นอกจากนี้ มีเงินรับคืนจากโครงการมิยาซาว่าและโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 1,952 และ 445 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับสาเหตุที่ทำให้การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 43,558 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วมีรายได้พิเศษจากการยึดทรัพย์ฯ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 151,929 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,550 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.5 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 117,352 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,648 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 และการคืนภาษีอื่นๆ 34,577 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,198 หรือร้อยละ 31.1
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ในปีงบประมาณ 2554 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. แบ่งออกเป็น 12 งวด (จากเดิมจัดสรร 6 งวด) โดยได้จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว 5 งวด (ตุลาคม 2553 — กุมภาพันธ์ 2554) รวม 30,506 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 3,186 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.7
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3566
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 66/2554 10 มิถุนายน 54--