Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2554
1. ปริมาณการใช้แก๊สเพิ่มสูงขึ้นมากจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 2554 ที่ผ่านมา
2. อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ของสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.6
3. ธนาคารกลางอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 7.25 เป็น 7.50
- ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ปริมาณการใช้แก๊สเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยการใช้แก๊ส LPG ในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือเร่งขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณการใช้แก๊ส CNG ที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกัน โดยในเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 42.4 จากปีก่อนหน้า หรือขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 จากเดือนก่อนหน้า
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ต้นปี 54 เกิดจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งจากความตึงเครียดทางการเมืองในตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้า ซึ่งได้ส่งผลต่ออุปทานในตลาด และการเก็งกำไร และจากอุปสงค์น้ำมันที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ โดยเฉพาะจีน และอินเดีย นอกจากนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยในวันที่ 15 มิ.ย. 54 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 111.47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากต้นปี 54 ร้อยละ 21.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ทั้งปี 54 ราคาน้ำมันดูไบ จะอยู่ที่ช่วง 90.0- 100.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 54) ทำให้คาดว่าภาคเอกชนอาจมีการเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้แก๊สมากขึ้นในระยะต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) สหรัฐฯ เดือน พ.ค. 54 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค. 54 ขยายตัวเพิ่มร้อยละ 0.1 เมี่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (% m-o-m) สะท้อนถึงภาคการผลิตสหรัฐฯที่ยังมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องตามราคาอาหารและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ เดือน พ.ค. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่าราคาเชื้อเพลิงเดือน พ.ค. 54 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ราคาอาหารขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ยังต้องมีการติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอย่างใกล้ชิดจากแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐยังคงไม่มีความชัดเจนสะท้อนได้จากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง
- ธนาคารกลางอินเดียปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งที่ 10 นับตั้งแต่ต้นปี 2553 จากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 7.25 เป็นร้อยละ 7.50 โดยถือเป็นการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ผ่านการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่มากครั้งที่สุดในรอบกว่า 10 ปี เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว เป็นไปตามการคาดการณ์ของทุกฝ่าย เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับสูง และราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน พ.ค. 54 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.7 ทั้งนี้ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังคงจะอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้คาดการณ์ว่าธนาคารกลางของอินเดียยังคงต้องใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวในระยะต่อไป เพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าวให้มีเสถียรภาพมากขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th