รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 20, 2011 11:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2554

Summary:

1. ธปท. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่น่าห่วง

2. สภาที่ปรึกษาหนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในกรุงเทพมหานคร

3. IMF ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 54

Highlight:
1. ธปท. ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องจากเงินเฟ้อยังอยู่น่าห่วง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ถือเป็นระดับที่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน เนื่องจากเป็นการปรับกลับเข้าสู่ระดับปกติ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อนับเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่น่าห่วง และต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด โดยในการประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ย คณะกรรมการฯ จะคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านอย่างความเหมาะสม ทั้งการปรับตัวของภาคธุรกิจ การลงทุน การอุปโภคและบริโภค ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และเศรษฐกิจต่างประเทศ จนไปถึงปัจจัยทางการเมือง พร้อมกับการพิจารณาเรื่องความเสี่ยงของเงินเฟ้อ ที่ปัจจุบันยังอยู่ในระดับสูง เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนพ.ค. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 4.2 และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ซึ่งเป็นผลมาจาก 1. ระดับราคาสินค้าโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่อยู่ในระดับสูง 2. การจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของรายได้เกษตรกร และการปรับเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนข้าราชการ และ 3. การคาดการณ์ระดับราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากความกังวลเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางที่ส่งผลกระทบต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ สศค. ประมาณการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 3.1-4.1 และอัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.75-3.75
2. สภาที่ปรึกษาหนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในกรุงเทพมหานคร
  • ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวถึง กรณีที่คณะอนุกรรมการพิจารณาขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เตรียมเสนอให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างกลางปีในพื้นที่กรุงเทพมหานครในอัตรา 5-9 บาทต่อวัน โดยมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องและไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อมากนัก ซึ่งจะทำให้แรงงานมีความเป็นอยู่ดีขึ้น และตรงกับเป้าหมายหลักของรัฐบาล แต่จะต้องมีการเพิ่มทักษะแรงงานมากขึ้นด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชนโดยเฉพาะด้านการบริโภคซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง อีกทั้งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำยังช่วยให้แรงงานมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เนื่องมาจากในช่วงที่ผ่านมาค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าการเพิ่มของอัตราเงินเฟ้อ แต่อย่างไรก็ตาม การขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลต่อการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากค่าแรงถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ ร้อยละ 10 - 20 ของต้นทุนทั้งหมด
3. IMF ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 54
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกปี 54 จากร้อยละ 4.4 เป็นร้อยละ 4.3 ในเดือน พ.ค. 54 โดยปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปี 54 จากร้อยละ 2.8 เป็นร้อยละ 2.5 และประเทศญี่ปุ่นปรับลดลงจากร้อยละ 1.4 เป็นร้อยละ -0.7 ในขณะที่ปรับเพิ่มการขยายตัวของเศรษฐกิจในยูโรโซนจากร้อยละ 0.4 เป็นร้อยละ 2.0 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในประเทศเยอรมณี ส่วนแนวโน้มการขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้น IMF คาดว่า ในปี 54 เศรษฐกิจเกิดใหม่จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง และเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังเผชิญปัญหาอุปทานตึงตัวจากภัยพิบัติสึนามินั้นสะท้อนว่าแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกแผ่วเบาลง ประกอบกับวิกฤตหนี้ในยุโรป และแรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันและอาหารที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ทำให้คาดว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 54 มีแนวโน้มลดลง ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการค้าระหว่างประเทศและ GDP ของไทย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งการส่งออกสินค้าและบริการเป็นหลัก โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 69.0 ของ GDP ในปี 2553 โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และ ญี่ปุ่นนั้นถือเป็นคู่ค้าส่งออกสำคัญอันดับที่ 2 และ 3 ของไทย หรือคิดเป็นร้อยละ 10.5 และ 10.3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ตามลำดับ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ