Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2554
Summary:
1. พาณิชย์คาดยอดส่งออก'มัน'ปีนี้ 7 หมื่นล้าน
2. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.54 อยู่ที่ 177.83 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
3. GDP เวียดนามครึ่งปีแรกโตร้อยละ 5.6
Highlight:
1. พาณิชย์คาดยอดส่งออก'มัน'ปีนี้ 7 หมื่นล้าน
- ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในการเปิดประชุมงานสัมมนามันสำปะหลังนานาชาติปี 2554 ว่าในปี 2553 ประเทศไทยมียอดการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังประเภทต่างๆ ทั้งมันเส้น มันเม็ดและแป้งในปริมาณรวม 7.27 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,153 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 68,331 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า70,000 ล้านบาท หรือผลักดันให้การส่งออกมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 15% โดยผลผลิต 75% จะถูกแปรรูปเพื่อส่งออกขายต่างประเทศ และส่วนที่เหลือจะนำมาใช้ภายในประเทศ
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยในเดือน พ.ค.54 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกรวมอยู่ที่ 19,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 17.6 ส่วนหนึ่งมาจากสินค้าในหมวดเกษตรกรรมที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 61.1 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 43.2 ซึ่งสินค้าที่ส่งออกมากที่สุด ได้แก่ ข้าว ยางพารา และ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 99.0 86.5 และ 36.84 ตามลำดับ และสำหรับผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 245.29 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 (ม.ค.-พ.ค. 54) การส่งออกไทยยังขยายตัวในระดับที่สูงที่ร้อยละ 25.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังตามที่คาดการณ์ โดยคาดการณ์ทั้งปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 13.3 -15.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 54 และจะมีการปรับประมาณการณ์อีกในเดือน มิ.ย. 54)
2. ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.54 อยู่ที่ 177.83 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4
- ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) รายงานว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ค.54 อยู่ที่ระดับ 177.83 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นการติดลบติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 โดยมีสาเหตุจากปริมาณการผลิตของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมสิ่งทอลดลง
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ค.54 ที่หดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 มีสาเหตุสำคัญจากภาคอุตสาหกรรมยานยนต์มีปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนอุปกรณ์ยานยนต์จากประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องชะลอกำลังการผลิตลง ซึ่งสะท้อนจากการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์เดือน พ.ค.54 หดตัวมากที่ร้อยละ -32.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอต้องเผชิญปัญหาต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาฝ้ายที่เป็นวัตถุดิบสำคัญทำให้ผู้ผลิตต้องชะลอการสั่งซื้อฝ้ายมาผลิตสินค้า เพื่อป้องกันการขาดทุนจากการสต็อกวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่าปัญหาด้านอุปทานของการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในหมวดสินค้ายานยนต์ที่ต้องเลื่อนการผลิตออกไป จะสามารถกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี และเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในช่วงร้อยละ 4.0 - 5.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค.54)
3. GDP เวียดนามครึ่งปีแรกโตร้อยละ 5.6
- กระทรวงวางแผนและการลงทุนเวียดนาม รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของเวียดนามในช่วงครึ่งแรกของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ส่วนยอดนำเข้าขยายตัวร้อยละ 25 ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
- สศค.วิเคราะห์ว่า GDP ของเวียดนามไตรมาส 2 ปี 54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาครึ่งแรกของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 5.6 ซึ่งขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.49 ขณะที่ภาคบริการขยายตัวร้อยละ 6.1 อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจเวียดนามคือ อัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิ.ย.54 ขยายตัวร้อยละ 20.8 ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามทั้งปี 54 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 54)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th