ผลการหารือเกี่ยวกับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐสิงค์โปร์ และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2011 09:56 —กระทรวงการคลัง

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (ผอ. สบน.) แถลงว่า สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) โดยมี ผอ. สบน. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมเพื่อเจรจาและเผยแพร่ข้อมูลให้นักลงทุนต่างประเทศเพื่อรองรับการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) ในวันที่ 20 — 24 มิ.ย. 54 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐสิงค์โปร์ และเชตบริหารพิเศษฮ่องกง เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยทั้งในตลาดแรกและตลาดรอง แนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในเชิงลึก นโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และตอบข้อซักถามเชิงลึกให้กับนักลงทุนในต่างประเทศที่มีความสนใจลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ในการนี้ สบน. ได้มีการประชุมแบบรวมกลุ่มกับนักลงทุนในทวีปยุโรปจำนวน 20 ราย และนักลงทุนในทวีปเอเชียจำนวน 40 ราย และประชุมแบบตัวต่อตัว (One-on-One) กับนักลงทุนรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารต่อรายตั้งแต่ 30,000 ถึง 1,300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จำนวน 14 ราย โดยจากการประชุมดังกล่าว พบว่านักลงทุนในต่างประเทศมีความต้องการให้มีการพัฒนาพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องโดย

1. สร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ โดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้ออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

2. สร้างเส้นผลตอบแทนอ้างอิงโดยการออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อในรุ่นอายุอื่นๆ นอกจากรุ่น 10 ปี

นอกจากนี้ นักลงทุนในต่างประเทศยังมีความคิดเห็นว่าการที่ประเทศไทยสามารถออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีอายุยาวถึง 50 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดตราสารหนี้ไทยได้พัฒนามาจนอยู่ในแนวหน้าของระดับสากลแล้ว เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ 4 ในโลกที่มีพันธบัตรรัฐบาลยาวถึง 50 ปี อีกทั้งแผนการที่จะจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่าน ATM ถือเป็นแผนการที่ดีในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในเชิงลึก เนื่องจากเป็นการมุ่งเน้นดูแลกลุ่มนักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มนักลงทุนที่มักจะไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาลในต่างประเทศมากนัก

ล่าสุด จากการสำรวจเบื้องต้น สบน. คาดว่า พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อจะได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งจากนักลงทุน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1. นักลงทุนรายย่อย (high net worth) และองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (สหกรณ์มูลนิธิต่างๆ)

2. นักลงทุนสถาบันในประเทศ (สถาบันการเงิน กองทุนและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ)

3. นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศ (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและบริษัทประกันชีวิตต่างๆ)

โดย สบน. จะเป็นผู้จัดสรรพันธบัตรให้อย่างเหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายฐานนักลงทุนไปยังกลุ่มใหม่ๆและสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง ทั้งนี้เพื่อให้ ILB เป็นเครื่องมือในการระดมทุนของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ Portfolio อย่างยั่งยืน ตลอดจนเป็นดัชนีชี้นำการคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินได้อย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น นอกจากนั้น พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อยังเป็นเครื่องชี้ถึงระดับการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่ทัดเทียมกับตลาดตราสารหนี้ชั้นนำของโลกด้วย (ประเทศไทยเป็นประเทศแรกใน Asia emerging economy market ที่ออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ)

อนึ่ง สบน. จะมีการจัดจำหน่ายพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ภายในวันที่ 11 — 13 ก.ค. 54 โดยมีรายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

อายุ                       10 ปี
วงเงิน                     ไม่เกิน 40,000 ลบ.
การจ่ายดอกเบี้ย              ทุก 6 เดือน
ผลตอบแทน                  อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วและอัตราการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ
ดัชนีอ้างอิง                  ดัชนีผู้บริโภคทั่วไป (Headline CPI)
Indexation Lag            3 เดือน
Index Ratio               สบน. และ ธปท. ร่วมกันกำหนดวิธีการคำนวณ โดยมีสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเป็นผู้รับผิดชอบการคำนวณ
อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว          กำหนด ณ วันที่ 6 ก.ค. 54
การชำระคืนเงินต้น            ชำระคืนไม่ต่ำกว่ามูลค่าหน้าตั๋ว ณ วันไถ่ถอน
วงเงินขั้นต่ำ                 100,000 บาท
ตัวแทนจัดจำหน่าย             1. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้ง

2. ธนาคารไทยพาณิชย์

3. ธนาคารกสิกรไทย

4. ธนาคารกรุงไทย

หมายเหตุ                   นักลงทุนผู้สนใจลงทุนในพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อควรติดต่อธนาคารตัวแทนจัดจำหน่ายก่อนวันจัดจำหน่ายเพื่อสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สบน. จะมีการจัดประชุม Market Dialogue ภายในเดือนกันยายน พ.ศ. 2554 เพื่อรวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ค้าหลักและนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนำมาใช้ในการวางแผนพัฒนาเครื่องมือระดมทุนและตลาดตราสารหนี้ พร้อมทั้งกำหนดแผนการระดมทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ต่อไป

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

02-265-8050 ต่อ 5806,5807

www.pdmo.go.th

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 72/2554 29 มิถุนายน 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ