รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554 “เศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่ายังคงขยายตัวอยู่ในช่วงคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.0—5.0 ท่ามกลางแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 30, 2011 10:00 —กระทรวงการคลัง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมิถุนายน 2554 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 - 5.0 ไม่เปลี่ยนแปลงจากประมาณการไว้เดิมเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ถือเป็นการปรับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ จากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่สูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้จะได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้และการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี และปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่ยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในแถบเอเชีย แม้จะได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นบ้างก็ตาม สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังมีแนวโน้มมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์และราคาน้ำมันที่เร่งขึ้น ขณะที่ตลาดแรงงานจะยังคงตึงตัว โดยคาดว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม”

นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวเสริมว่า “ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 - 10.0) เนื่องจากคาดว่าปัญหาอุทกภัยและภับพิบัติในญี่ปุ่นที่เริ่มคลี่คลายลงจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในวงจำกัด นอกจากนั้น การใช้จ่ายในประเทศในปี 2554 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.8) เนื่องจากการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับตัว ดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทางการเกษตรหลักๆ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.6 — 10.6) เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถกลับมาผลิตในระดับปกติได้อีกครั้ง ภายหลังผลกระทบจากการตึงตัวของห่วงโซ่อุปทานอันเนื่องจากภัยพิบัติสึนามิ ที่ญี่ปุ่นคลี่คลายมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) และการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 - 4.6)

ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 จะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 — 4.8 เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นและราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2554 คาดว่าจะยังคงเกินดุล แต่จะเกินดุลลดลงจากปีก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ของ GDP โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 — 3.8 ของ GDP”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2554 (ณ เดือนมิถุนายน 2554)

                                                              2553         2554 f
                                                                       (ณ มิถุนายน 2554)
                                                                            เฉลี่ย               ช่วง
                          สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)               4.8            3.3            3.1 — 3.6
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                        78.2           101           96.0 — 106.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                     9.1             7             6.0 — 8.0
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                     8.1            10             9.0 — 11.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                             31.7          30.5           29.5 — 31.5
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                     2             3.5           2.25 — 3.75
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                   2.52          2.79           2.78 — 2.80
                        ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                         7.8            4.5            4.0 — 5.0
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                     5.1            4.1            3.6 — 4.6
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                 4.8            4.3            3.8 — 4.8
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                    6.4             3             2.5 — 3.5
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                      9.4            7.4            6.9 — 7.9
    - การลงทุนภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                 13.8           9.6            8.6 — 10.6
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     -2.2           3.6            2.6 — 4.6
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)             14.7            9             8.0 — 10.0
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)             21.5          10.1            9.1 — 11.1
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                   14           10.8            9.8 — 11.8
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        28.5          17.6           16.6 — 18.6
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                        36.8          20.8           19.8 — 21.8
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                             14.8          12.3           10.7 — 13.2
  - ร้อยละของ GDP                                              4.6            3.4            3.1 — 3.8
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                  3.3            3.8            3.3 — 4.8
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                0.9            2.5            2.0 — 3.0
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                       1             0.9            2.0 — 3.0

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2554

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ซึ่งเป็นการปรับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติ จากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงมาก ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8 — 4.8) ตามภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งในส่วนของรายได้เกษตรที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นตามราคาพืชผลสำคัญ เช่น ยางพารา และพืชพลังงาน ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย ปาล์มน้ำมัน เป็นสำคัญ รายได้ของลูกจ้างและข้าราชการที่จะปรับสูงขึ้นจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการ รวมถึงรายได้จากภาคท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นอย่างมากของการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาส 1 ปี 2554 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.2 ประกอบกับแนวโน้มอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เน้นการผลิตเพื่อส่งออกค่อนข้างสูง คาดว่าจะส่งผลให้ผู้ประกอบการลงทุนเพิ่มขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิตให้สามารถรองรับความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นได้ สำหรับอุปสงค์ภายนอกประเทศคาดว่าจะชะลอตัวลงจากปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังคงเป็นไปอย่างล่าช้า ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในแถบยุโรปยังคงประสบปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลต้องระมัดระวังการจับจ่ายใช้จ่ายลง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของประเทศคู่ค้าในแถบเอเชียยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี ประกอบกับปัญหาอุทกภัยและภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกในระยสั้น ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2554 คาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 — 11.0) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ คาดว่าจะขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 10.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.1 — 11.1) สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในปี 2554 คาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2554 ทีเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.6 — 4.6) ตามแผนโครงการลงทุนในระบบคมนาคมที่คาดว่าจะเริ่มลงทุนได้จริงในปีนี้

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 — 4.8 ต่อปี) จากราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากปี 2553 และการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่คาดว่าจะส่งผลให้แรงกดดันด้านต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ส่วนอัตราการว่างงานคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.8 — 1.0 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 12.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 — 3.8 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 10.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 9.8 — 11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) โดยคาดว่ามูลค่านำเข้าสินค้าในปี 2554 จะขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 20.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 19.8 — 21.8) ตามราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าส่งออกสินค้าในปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 17.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6 — 18.6)

กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในปี 2554 คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเป็นการปรับเข้าสู่การขยายตัวในระดับปกติจากปีก่อนหน้าที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวสูงมาก ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ภายนอกประเทศ ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่น่าจับตามองคาดว่าจะมาจากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะปรับตัว และความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายหลังการเลือกตั้ง

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 73/2554 29 มิถุนายน 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ