ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2554) และในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554
นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 2 ขาดดุล 1 แสนล้านบาท ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ดุลการคลังภาครัฐขาดดุล 3.72 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 44.8
ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2554 (มกราคม - มีนาคม 2554) ดุลการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ขาดดุลจำนวน 100,616 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุล 191,995 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 47.6 โดยมีรายได้ทั้งสิ้น 654,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 115,718 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 จากการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมาก ส่งผลให้รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต รวมทั้งรัฐบาลได้จัดสรรและโอนเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. เร็วกว่ากำหนด โดยได้โอนเงินอุดหนุนทั่วไปของช่วงครึ่งปีหลังภายในไตรมาสที่ 2 ส่วนรายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 754,743 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 24,338 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3
สำหรับในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ภาครัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 1,268,782 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 187,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 1,641,642 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 303,429 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.7 เนื่องจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 234,100 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาล ขาดดุลจำนวน 372,860 ล้านบาท ขาดดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8 (ปีที่แล้วขาดดุล 257,416 ล้านบาท)
นายนริศ ชัยสูตร สรุปว่า “การขาดดุลการคลังของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วเป็นผลจากจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 44.7 ในขณะที่รายจ่ายรวมเป็นไปตามเป้าหมาย สำหรับดุลการคลังของภาครัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรก ขาดดุลเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแผนและนโยบายการจัดตั้งงบประมาณขาดดุลของรัฐบาล”
ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2554) และในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554
ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค.1 (ระบบ Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2554) ของปีงบประมาณ 2554 ภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 100,616 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 91,379 ล้านบาท เป็นผลจากจัดเก็บรายได้ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 44.7 ในขณะที่รายจ่ายรวมเป็นไปตามเป้าหมาย โดยสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 2 ปีงบประมาณ 2554
1.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 654,127 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.0 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 115,718 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.5 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้รัฐบาล สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 58,262 หรือร้อยละ 16.7 ในส่วนของ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้น 47,525 ล้านบาท หรือร้อยละ 44.7 นอกจากนี้บัญชีนอกงบประมาณ (กองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) มีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9,931 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 เนื่องจากกองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบจากงบประมาณและเงินสมทบเพื่อสังคมเพิ่มมากขึ้น และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีรายได้จากงบประมาณเพิ่มมากขึ้น
1.2 รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงมีจำนวน 754,743 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 24,338 ล้านบาท หรือร้อยละ
3.3 เนื่องจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลจำนวน 574,036 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 81,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 เป็นผลมาจากงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2554 สูงกว่าปีงบประมาณ 2553 ถึงร้อยละ 21.7 ส่งผลให้การเบิกจ่ายในไตรมาสที่ ๒ นี้เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ อปท. มีรายจ่าย 91,768 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 9,314 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.3 เป็นผลจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายงบกลางเพิ่มขึ้น และรายจ่ายจากบัญชีนอกงบประมาณซึ่งรวมเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาลรวม 73,706 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 11,088 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.1 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ที่จัดสรรให้หน่วยบริการลดลง นอกจากนี้รายจ่ายเงินกู้มีการเบิกจ่าย 909 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 714 ล้านบาท หรือร้อยละ 366.9 ส่วนรายจ่ายจากมาตรการไทยเข้มแข็ง มีรายจ่ายจำนวน 14,325 ล้านบาท ลดลงจาก ช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 56,328 ล้านบาท หรือร้อยละ 79.7 เนื่องจาก ในปีงบประมาณ 2553 ได้มีการเบิกจ่ายในสาขาการประกันรายได้และการดำเนินงานอื่น ๆ และสาขาการขนส่ง จำนวน 30,549 และ 11,935 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ปีงบประมาณ 2554 ไม่มีโครงการดังกล่าว
๑ ระบบ สศค. : ระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง หรือ Government Finance Statistics (GFS) เป็นระบบสถิติที่รวบรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ของรัฐบาลทั้งหมด โดยครอบคลุมการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ เงินฝากนอกงบประมาณ กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ เงินกู้ต่างประเทศ และเงินช่วยเหลือต่างประเทศ
1.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากรายได้และรายจ่ายข้างต้นภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 100,616 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 191,995 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง (โดยไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้) ขาดดุลทั้งสิ้น 56,381 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของ GDP) ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 146,709 ล้านบาท
2. ฐานะการคลังตามระบบ สศค. 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553- มีนาคม 2554)
2.1 รายได้ภาครัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,268,782 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.7 ของ GDP เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 187,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้รัฐบาล อปท. และบัญชีเงินนอกงบประมาณ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1) รัฐบาลมีรายได้รวม 804,858 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ7.4 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 104,973 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลัก (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ที่เพิ่มขึ้น
2) อปท. มีรายได้ทั้งสิ้น 243,321 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP และเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 35,984 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 ทั้งนี้เนื่องจากการจัดสรรเงินที่รัฐบาลแบ่งให้และเก็บให้ อปท. เพิ่มขึ้น รวมทั้งรัฐบาลได้จัดสรรและโอนเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. เร็วกว่ากำหนด โดยได้โอนเงินอุดหนุนทั่วไปของช่วงครึ่งปีหลังภายในไตรมาสที่ 2
3) บัญชีนอกงบประมาณซึ่งประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณจำนวน 220,604 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 47,028 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.1
2.2 รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงมีจำนวน 1,641,642 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.1 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 303,429 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายของรัฐบาล อปท. เงินกู้ต่างประเทศและบัญชีเงินนอกงบประมาณ ขณะที่รายจ่ายจากมาตรการไทยเข้มแข็งกลับลดลง 54,318 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.5 โดยมี รายละเอียด ดังนี้ 1) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 1,169,991 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๑0.8 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 9.3 ของ GDP) และสูงกว่าปีที่แล้ว 234,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.0 2) อปท. มีรายจ่ายจำนวนทั้งสิ้น 206,045 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP) และสูงกว่าปีที่แล้ว 46,459 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.1
3) เงินกู้ต่างประเทศ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,036 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 586 ล้านบาท หรือร้อยละ 130
4) รายจ่ายเงินกู้จากมาตรการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 36,998 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.3 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 0.9 ของ GDP) และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วมีจำนวน 54,318 ล้านบาท หรือร้อยละ 59.5
5) บัญชีนอกงบประมาณ (รวมรายจ่ายและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) จำนวน 227,572 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 76,603 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 50.7 สาเหตุมาจากรายจ่ายของกองทุนเงินนอกงบประมาณเพิ่มขึ้น เช่น รายจ่ายเพื่อชดเชยราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
2.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล ขาดดุลการคลัง 372,860 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของ GDP (ปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 257,416 ล้านบาท) สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง (ไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 ขาดดุลทั้งสิ้น 338,605 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของ GDP) ในขณะที่ปีที่แล้วขาดดุล 202,525 ล้านบาท เนื่องจากนโยบายรัฐบาลที่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณจาก 350,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2553 เป็น 420,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2554 ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายวงเงินงบประมาณมากขึ้น ประกอบกับการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนให้สำนักงานประกันสังคมในปีงบประมาณ 2554 มีการเบิกจ่ายทั้งก้อน ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ในขณะที่ ปีงบประมาณ 2553 เบิกจ่ายเป็นงวดๆ ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่เบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2554 ในขณะที่ปีงบประมาณ 2553 ไม่มีรายจ่ายดังกล่าว
จัดทำโดย : สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 76/2554 5 กรกฎาคม 54--