Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2554
1. ม.หอการค้า เผยนักธุรกิจขานรับนโยบายเพื่อไทย เชื่อดันเศรษฐกิจไทยปีนี้โตได้ร้อยละ 4-5
2. เวียตนามคาดปี 54 รายได้ส่งออกแตะ 8.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
3. มูดี้ส์ลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของโปรตุเกสลงต่ำกว่าอันดับน่าลงทุน
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของนักธุรกิจต่อนโยบายของพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พบว่านักธุรกิจเชื่อว่านโยบายต่างๆของพรรคจะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4-5
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 54 ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศและภายนอกประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงขยายตัวร้อยละ 4.3 ต่อปี เนื่องจากการจ้างงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงและเงินเดือนของรัฐบาลใหม่ รวมถึงรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าเกษตรหลัก ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 ต่อปี เนื่องจากคาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถกลับมาผลิตในระดับปกติได้อีกครั้ง ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐคาดว่าจะยังคงมีบทบาทในการสนับสนุนภาวะเศรษฐกิจ โดยการบริโภคและการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และ 3.6 ต่อปี ตามลำดับ รวมทั้งปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 54 มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 9.0 ต่อปี ทั้งนี้ สศค. ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 54 ว่าจะสามารถขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)
- กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนามคาดการณ์ว่า รายได้จากการส่งออกของเวียดนามในปี 54 อาจแตะที่ระดับ 8.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายของรัฐสภาเวียดนามที่ 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากช่วงครึ่งปีแรกของปี 54 ที่มีมูลค่าการส่งออกรวม 4.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเวียดนามในปี 54 มีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย.54) โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการผลิตและการบริการ รวมทั้งการส่งออกซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ กลุ่มสินค้าเกษตร ป่าไม้และประมง (ข้าว ยางพารา เมล็ดกาแฟ พริกไทย อาหารทะเล ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้) เสื้อผ้าสำเร็จรูปและรองเท้า น้ำมันเชื่อเพลิง แร่ธาตุ และสินค้าอุตสาหกรรม โดยมูลค่าการส่งออกและนำเข้าในเดือน มิ.ย.54 สามารถขยายตัวได้ร้อยละ 29.6 และ 26.1 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามและไทยในปี 53 อยู่ที่ 5.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.0 ของประเทศคู่ค้าหลัก 16 ประเทศของไทย และในช่วง 5 เดือนแรกของปี 54 อยู่ที่ 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังเวียดนาม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป (RHS) เม็ดพลาสติก เหล็กและเหล็กกล้า เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส หนึ่งในบริษัทเครดิตเรตติ้งยักษ์ใหญ่ของโลก ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้ของโปรตุเกสลง 4 ขั้นจาก Baa1 เป็น Ba2 ซึ่งต่ำกว่าอันดับน่าลงทุน การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือดังกล่าวเป็นไปตามความกังวลที่ว่าโปรตุเกส
จะไม่สามารถลดยอดขาดดุลงบประมาณ และรักษาเสถียรภาพหนี้ ได้ตามเป้าหมายในข้อตกลงขอความช่วยเหลือจากสหภาพยุโรป และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถลดการใช้จ่าย ขึ้นภาษี กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต และสนับสนุนระบบการธนาคารได้
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับลดอันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นของสถานการณ์หนี้สาธารณะของรัฐบาลโปรตุเกส ทำให้รัฐบาลของโปรตุเกสต้องเผชิญกับความท้าท้ายอื่นๆ ทั้งในด้านการระดมเงินทุนเพื่อการฟื้นฟูภาระหนี้สินของประเทศหลังวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะ การสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศ และการรักษาวินัยทางการคลังเพื่อลดยอดหนี้ เมื่อเดือนเม.ย. มูดีส์ได้ตัดลเครดิตของโปรตุเกสลง 1 ระดับจาก A3 ลงมาอยู่ที่ Baa1 เนื่องจากคาดการณ์ว่า โปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญ ทั้งนี้ ภาระหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ของโปรตุเกสยังมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 43 เป็นต้นมา ล่าสุด ณ ปี 53 หนี้สาธารณะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 93.0 ต่อ GDP จึงทำให้โปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรป (อียู) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เป็นประเทศที่ 3 ต่อจากรีซ และไอร์แลนด์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th