รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 12, 2011 11:42 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 กรกฎาคม 2554

Summary:

1. กสิกรไทยคาด กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25

2. หอการค้าไทยคาดการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 54 ขยายตัวร้อยละ 9.5

3. เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน

Highlight:
1. กสิกรไทยคาด กนง.ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) ในวันที่ 13 ก.ค. 54 คาดว่า กนง. จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 1 วันอีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.00 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ดัชนีราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า ทั้งหมวดอาหารสำเร็จรูป หมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และหมวดเชื้อเพลิง ทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง โดยอัตราเงินเฟ้อ มิ.ย. 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในเดือน มิ.ย. 54 อยู่ที่ 2.6 ส่งผลให้คาดว่า กนง. น่าจะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อเนื่อง เพื่อควบคุมแรงกดดันจากเงินเฟ้อและจำกัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ (ร้อยละ 0.5-3.0) ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 3.50 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.25 - 3.75 คาดการณ์ ณ มิ.ย.54)
2. หอการค้าไทยคาดการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 54 ขยายตัวร้อยละ 9.5
  • มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยตัวเลขดัชนีนำการส่งออกในเดือนพ.ค.54 อยู่ที่ระดับ 100.52 ต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือน ตั้งแต่เดือน ต.ค.53 ส่งผลให้การส่งออกไตรมาสที่ 3 และไตรมาส 4 ในปี 54 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 54 การส่งออกจะมีมูลค่ากว่า 112,037 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 9.5 ชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกขยายตัวที่ร้อยละ 21.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังปี 54 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงเนื่องจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า อีกทั้งคาดว่าเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ยังคงมีทิศทางการฟื้นตัวที่เปราะบาง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในภูมิภาคเอเชียคาดว่าจะมีทิศทางการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะเป็นปัจจัยผลักดันให้การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกปี 54 มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และคาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6 ถึง 18.6) ประมาณการ ณ เดือน มิ.ย. 54
3. เฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำเป็นระยะเวลานาน
  • มีแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ไว้ที่ร้อยละ 0.0 ถึง 0.25 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเช่นนี้ไปในระยะเวลานานที่สุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา นอกจากนี้ คาดว่า เฟดจะเน้นย้ำคำมั่นสัญญาเรื่องการถือครองหลักทรัพย์ไว้ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเชื่อว่าหลักทรัพย์จำนวนมากนี้จะทำให้ เฟดยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ แม้เฟดไม่ได้เพิ่มการถือครองหลักทรัพย์มาระยะหนึ่งแล้วก็ตาม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงเผชิญกับปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งจากปัญหาเชิงโครงสร้างภายใน อาทิ อัตราการว่างงานในสหรัฐ (ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 9.2 ในเดือน มิ.ย. 54 ส่งผลให้อเมริกันกว่า 14.1 ล้านคนยังคงว่างงาน) และภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อาจใช้เวลานานกว่าจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนวิกฤต (ปัจจุบันยอดผิดชำระหนี้ที่อยู่อาศัยเกินกว่า 2 เดือน มีสูงกว่า 1.7 ล้านหน่วย) ตลอดจนปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะวิกฤตด้านการคลังในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น จะเป็นสาเหตุให้เฟดจำเป็นต้องยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.0-0.25 ต่อไป นอกจากนี้ คาดว่าเฟดจะยังคงไม่นำมาตรการ QE 3 มาใช้ เนื่องจากต้องการเวลาในการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอีกระยะหนึ่ง สะท้อนว่านโยบายการเงินจะยังไม่ถูกเปลี่ยนเป็นเชิงเข้มงวดในอนาคตอันใกล้ และเฟดคาดว่าจะเป็นธนาคารกลางลำดับท้ายๆ ของโลกที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ