Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กรกฎาคม 2554
Summary:
1. กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
2. เตือนเพื่อไทยหยุดส่งสัญญาณค่าเงิน
3. เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5
Highlight:
1. กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
- นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงภายใต้อุปสงค์ที่ขยายตัวดี อัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงยังควรปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและดูแลไม่ให้เงินเฟ้อคาดการณ์เร่งขึ้น จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันที
- สศค. วิเคราะห์ว่า การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.25 จากเดิมที่ร้อยละ 3.00 เป็นร้อยละ 3.25 ต่อปี เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง จากราคาพลังงานและราคาสินค้าในหมวดอาหารสำเร็จรูป ซึ่งในเดือน มิ.ย. 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.1 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ซึ่งใกล้เคียงเพดานเงินเฟ้อตามกรอบเป้าหมายของ ธปท. นอกจากนี้ มาตรการต่างๆของภาครัฐในอนาคต เช่น การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและเงินเดือนของข้าราชการ จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันทางด้านราคา ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 54 จะปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 — 4.8 ต่อปี
2. เตือนเพื่อไทยหยุดส่งสัญญาณค่าเงิน
- กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยไม่ควรส่งสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางของค่าเงินบาทก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จ เพราะอาจเกิดการเก็งกำไรค่าเงินได้ โดยเห็นว่ารัฐบาลชุดใหม่ควรบริหารค่าเงินให้เหมาะสม และเป็นไปในทิศทางเดียวกับภูมิภาค เพื่อไม่ให้กระทบต่อการส่งออกที่มีมูลค่าสูงถึงร้อยละ 70-80 ของ GDP ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการส่งออกยังมั่นใจว่าการส่งออกปีนี้เป็นไปตามเป้าที่จะขยายตัวร้อยละ 15 หากเงินบาทไม่แข็งค่าหลุดระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะหากแข็งเกินระดับดังกล่าว จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับตัวเพิ่มขึ้น จนต้องขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า ณ วันที่ 13 ก.ค.54 ค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งอ่อนค่าลงเล็กน้อยนับจากต้นปี 54 ที่ร้อยละ 0.7 โดยมีค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 30.39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรกปี 54 ขยายตัวร้อยละ 17.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรับจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 29.5 — 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ มาจากดุลการค้าที่เกินดุลและปริมาณการเคลื่อนย้ายเงินทุน และปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 — 11.0) มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวที่ร้อยละ 17.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6 ถึง 18.6) คาดการณ์การ ณ เดือน มิ.ย. 54
3. เศรษฐกิจจีนไตรมาส 2 ชะลอตัวเหลือร้อยละ 9.5
- สำนักนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 2 ขยายตัวร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากผู้กำหนดนโยบายคุมเข้มการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ตัวเลขการขยายตัวนับว่าสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ร้อยละ 9.4 แต่น้อยกว่าการเติบโตของไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 และไตรมาส 4 ของปี 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8
- สศค. วิเคราะห์ว่า จีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดย GDP ของจีนในไตรมาส 2 ของปี 54 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้จะชะลอลงจากไตรมาสแรก โดยมีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวทางเสรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 มาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี สอดคล้องในทิศทางเดียวกับยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน มิ.ย. 54 ที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 17.7 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุด ณ เดือนมิ.ย. 54 อัตราเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.4 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากดัชนีราคาอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของจีนในปี 54 จะขยายตัวได้ร้อยละ 9.2 คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th