นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยรัฐบาลจัดเก็บรายได้เดือนมิถุนายน สูงกว่าเป้าหมาย 2 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 1.8 แสนล้านบาท
เดือนมิถุนายน 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 109,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,065 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.0) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงกว่าประมาณการ จำนวน 5,474 3,476 และ 1,544 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 7,558 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงชั่วคราว
ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มิถุนายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,386,281 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 181,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของทุกหน่วยงานสูงกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรมสรรพากร รองลงมาได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย 138,739 21,629 9,431 และ 11,805 ล้านบาท ตามลำดับ
นายนริศฯ สรุปว่า “จากการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาที่สูงกว่าเป้าหมายเป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2554 นี้ รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้เป็นจำนวนกว่า 1.8 ล้านล้านบาทซึ่งสูงกว่าเป้าหมาย (1.65 ล้านล้านบาท) ในอัตราที่ค่อนข้างสูง และส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศมีความมั่นคงต่อเนื่องจากปีที่แล้ว”
เอกสารแนบ
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนมิถุนายน 2554 และในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิเบื้องต้นเดือนมิถุนายน 2554 มีจำนวน 109,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,065 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มิถุนายน 2554) รายได้รัฐบาลสุทธิรวมทั้งสิ้น 1,386,281 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 181,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) สรุปได้ ดังนี้
1. เดือนมิถุนายน 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 109,571 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,065 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.0) เป็นผลจากเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีแทบทุกประเภทสูงกว่าประมาณการ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สูงกว่าประมาณการ 5,474 3,476 และ 1,544 ล้านบาท ตามลำดับ นอกจากนี้ได้รับรายได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียม จำนวน 3,172 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 24.9 โดยมีสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ (1) การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5.305 บาท (2) การเร่งผลิตสุราและยาสูบในช่วงต้นปีงบประมาณ เนื่องจากกระแสข่าวการปรับเพิ่มอัตราภาษี ทำให้ผู้ผลิตยังมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่ในระดับสูง และ (3) อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี พ.ศ. 2554 การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์จะทยอยฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติ ตามทิศทางอุตสาหกรรม ยานยนต์ในประเทศไทยที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว
2. ในช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — มิถุนายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บ รายได้สุทธิ 1,386,281 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 181,050 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 12.3) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ รวมทั้งการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นที่สูงกว่าประมาณการ อันเนื่องมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 1,061,508 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 138,739 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.9) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าประมาณการ 86,842 33,249 และ 14,513 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.8 8.4 และ 8.6 ตามลำดับ โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการร้อยละ 11.2 และ 6.3 ตามลำดับ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 315,280 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 21,629 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.9) เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศขยายตัวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราและยาสูบจึงเร่งการผลิต ส่งผลให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ภาษีสุรา ภาษียาสูบ และภาษีเบียร์ได้สูงกว่าประมาณการ 18,490 6,455 3,044 และ 2,862 ล้านบาท ตามลำดับ โดยในส่วนของภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 11,110 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2554
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 75,081 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,431 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.0) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 9,241ล้านบาท หรือร้อยละ 14.5 สาเหตุสำคัญมาจากการนำเข้าเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบมีการขยายตัวค่อนข้างสูง ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — พฤษภาคม 2554) เท่ากับร้อยละ 25.8 และ 15.4 ตามลำดับ
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 79,806 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,805 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 21.7) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิปี 2553 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง ธนาคารออมสิน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสูงกว่าประมาณการ 3,715 2,168 1,266 1,162 1,100 และ 1,050 ล้านบาท นอกจากนี้ เงินปันผลของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และกองทุนรวมวายุภักษ์ยังสูงกว่าประมาณการ 1,677 และ 1,100 ล้านบาท ตามลำดับ
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 80,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,080 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.2 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 34.6) เนื่องจากการจัดเก็บรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ 3,800 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น นอกจากนี้ มีเงินรับคืนจากโครงการมิยาซาว่าและโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 1,952 และ 445 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สาเหตุที่การจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 42,426 ล้านบาท เนื่องจากปีที่แล้วมีรายได้พิเศษจากการยึดทรัพย์ฯอดีตนายกรัฐมนตรี จำนวน 49,016 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 169,269 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,082 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 130,542 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 4,458 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 และการคืนภาษีอื่นๆ 38,727 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,540 หรือร้อยละ 28.3
2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผน และขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ (12 งวด / ปี) จัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว 6 งวด (ตุลาคม 2553 — มีนาคม 2554) รวม 36,358 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการจำนวน 3,008 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3566
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 79/2554 14 กรกฎาคม 54--