ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2007 09:33 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย   สุวรรณาภรณ์   ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  13  พฤศจิกายน  2550   คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการของกระทรวงแรงงาน  เรื่อง  ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่น (Japan — Thailand Economic  Partnership  Agreement : JTEPA)  โดยมีรายละเอียด ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
1 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย — ญี่ปุ่นดังกล่าวมีผลทำให้แรงงานและผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเดินทางไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น อาทิ ผู้ประกอบอาหารไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ระดับ 1 และมีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้ประกอบอาหารไทยในประเทศไทยอย่างน้อย 5 ปี (ญี่ปุ่นลดลงจาก 10 ปี) โดยได้รับเงินเดือนอย่างน้อย 7,000 บาท คนไทยที่มีวุฒิปริญญาตรีด้านมนุษยศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่มีคุณสมบัติตามเงื่อนไขการตรวจคนเข้าเมืองของญี่ปุ่น คนไทยหรือบริษัทไทยที่ให้บริการต่าง ๆ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ สามารถไปทำงานในประเทศญี่ปุ่นได้ทันทีที่ JTEPA มีผลบังคับใช้
2 รง.ได้เร่งรัดดำเนินการใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ ดังนี้
2.1 จัดทำคู่มือเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ขอใบอนุญาตทำงานทราบขั้นตอน และจัดทำเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งให้ข้อมูลผ่านทาง Website เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงขั้นตอนการให้บริการและกำหนดระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน รวมถึงกรณีที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบที่เกี่ยวข้อง
2.2 อำนวยความสะดวก เร่งรัด และปรับปรุงขั้นตอนในการขอใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้ที่ขอเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจ พร้อมทั้งปรับปรุงความโปร่งใสโดยกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนการให้บริการที่ชัดเจน
2.3 อำนวยความสะดวกให้บุคคลสัญชาติไทยที่ประสงค์จะไปทำงานที่ญี่ปุ่นให้ทราบช่องทาง วิธีการ คุณสมบัติของแต่ละอาชีพ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ รวมทั้งจัดสัมมนาให้ผู้ประกอบอาหารไทยมารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแห่งชาติ ระดับ 1 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550
2.4 แต่งตั้งผู้แทนเพื่อเข้าร่วมเจรจาในคณะอนุกรรมการเคลื่อนย้ายของบุคคลธรรมดาภายใต้ JTEPA ทันทีที่มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้ได้ข้อสรุปความเป็นไปได้ที่ญี่ปุ่นจะรับคนดูแลผู้สูงอายุของไทยและพนักงานสปาไทยไปทำงานที่ญี่ปุ่นภายใน 1 — 2 ปี
2.5 เตรียมแนวทางการดำเนินการคุ้มครองแรงงานที่ต้องทำงานเกี่ยวกับการควบคุมและจัดการขยะและของเสียอันตราย ซึ่งอาจได้รับผลกระทบในปัญหาด้านสุขอนามัยอันเนื่องมาจากไม่มีระบบการควบคุมหรือขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย รวมทั้งประเด็นด้านกฎหมายที่อาจไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มคนงานดังกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ