การจัดทำรายงานการเงินแผ่นดิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2007 09:34 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย   สุวรรณาภรณ์   ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่  13  พฤศจิกายน  2550   คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินตามแนวทางที่กระทรวงการคลังเสนอ  ดังมีรายละเอียดดังนี้
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2546 เห็นชอบให้จัดทำโครงการเปลี่ยนระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548) เป็นต้นไป
เหตุผลความจำเป็น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลถึงหลักการจัดทำรายงานการเงินแผ่นดิน ซึ่งจะต้องนำรายงานการเงินตามเกณฑ์คงค้างของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นส่วนราชการ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน ตลอดจน กองทุนเงินนอกงบประมาณมาจัดทำงบการเงินรวมของแผ่นดิน (Consolidated Financial Statements) โดยในช่วงระยะแรกของการปฏิบัติงานยังมีข้อผิดพลาดคลาดเคลื่อนของข้อมูล ส่งผลให้กระทรวงการคลังไม่อาจจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบรับรองได้
ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 21 (1) กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจัดให้มีการประมวลบัญชีการเงินแผ่นดิน และมาตรา 30 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศรายงานการรับจ่ายเงินประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุดในราชกิจจานุเบกษาโดยมิชักช้าและรายงานการรับจ่ายประจำปี เมื่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้ว ให้รายงานผลการตรวจสอบเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอรัฐสภา
กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางยังไม่สามารถจัดทำรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ส่งให้ สตง. ตรวจสอบเนื่องจากข้อมูลในรายงานการเงินยังมีความผิดปกติที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นมีดังนี้
1. ระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ในช่วงระยะแรกอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี การนำระบบออกใช้โดยที่ระบบยังไม่มีความสมบูรณ์เพียงพอ และขาดการทดสอบก่อนการใช้จริงทั้งระบบ
2. การเริ่มปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ได้กำหนดหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานนำร่องที่จะให้ปฏิบัติงานในระบบ GFMIS เพียงระบบเดียว โดยแบ่งตามความพร้อมของหน่วยงานออกเป็น 4 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 หน่วยงานเริ่มต้นการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547
กลุ่มที่ 2 จำนวน 84 หน่วยงานเริ่มต้นการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548
กลุ่มที่ 3 จำนวน 71 หน่วยงานเริ่มต้นการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548
กลุ่มที่ 4 จำนวน 111 หน่วยงานที่เหลือทั้งหมด เริ่มต้นการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1
มีนาคม 2548
ซึ่งการเริ่มปฏิบัติงานในระบบ GFMIS ไม่พร้อมกัน เป็นผลให้ข้อมูลในช่วงที่หน่วยงานยังปฏิบัติตามระบบเดิมไม่มีข้อมูลในระบบ GFMIS หรือมีแต่ไม่ครบถ้วน
3. บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้และความเข้าใจในระบบ และวิธีการปฏิบัติงานเนื่องจากผ่านการอบรมในระยะเวลาสั้นและอบรมได้ไม่ทั่วถึงทุกคน จึงทำให้การปฏิบัติงานมีข้อผิดพลาด
อย่างไรก็ตาม ข้อปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้น กระทรวงการคลังได้พยายามหาทางแก้ไขปัญหาตลอดเวลา ประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 ให้โอนงานระบบ GFMIS มาอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลัง และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาระบบให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อการแก้ไขปัญหาการจัดทำรายงานการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้หารือกับ สตง. ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว จึงได้กำหนดแนวทางให้ส่วนราชการปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้ส่วนราชการในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคตรวจสอบข้อผิดพลาดทางบัญชีที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 จากงบทดลองในระบบ GFMIS โดยเฉพาะข้อผิดพลาดที่เกี่ยวกับบัญชีเงินสด บัญชีเช็คในมือ บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีเงินฝากคลัง บัญชีลูกหนี้ และบัญชีเจ้าหนี้
2. ให้ส่วนราชการต้นสังกัดรวบรวมข้อผิดพลาดดังกล่าวเพื่อจัดทำกระดาษทำการปรับปรุงบัญชีนอกระบบ GFMIS ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนดและจัดทำงบการเงินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2549 จากระดาษทำการดังกล่าวส่งให้ สตง. ตรวจสอบและรับรองภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2551
3. ให้ส่วนราชการนำข้อผิดพลาดทางบัญชีดังกล่าวมาแก้ไขในระบบ GFMIS ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด หลังจากมีการพัฒนาระบบให้รองรับการแก้ไขแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ