ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) พ.ศ. 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2007 09:36 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย   สุวรรณาภรณ์   ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550  คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) พ.ศ. 2550 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้ 
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำโครงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) พ.ศ. 2550 โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ระหว่างวันที่ 24 — 28 กันยายน 2550 จากประชาชนตัวอย่างทั้งสิ้น 5,040 คน แบ่งเป็นประชาชนตัวอย่างในหมู่บ้าน/ชุมชนขนาดเล็ก 920 คน หมู่บ้าน/ชุมชนขนาดกลาง 2,460 คน และหมู่บ้าน/ชุมชนขนาดใหญ่ 1,660 คน ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปดังนี้
1. การทราบหมู่บ้าน/ชุมชนของตัวเองได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินโครงการพัฒนา หมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.9 ระบุว่าทราบ มีเพียงร้อยละ 18.1 ระบุว่าไม่ทราบ
2. การเข้าร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อคัดเลือกโครงการที่จะนำเงินงบประมาณจากโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ดำเนินการ พบว่า ประชาชนที่ทราบว่าหมู่บ้าน/ชุมชนได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการส่วนใหญ่ ร้อยละ 78.8 ระบุว่าได้เข้าร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชน ส่วนอีกร้อยละ 21.2 ระบุว่าไม่ได้เข้าร่วม ซึ่งได้ให้เหตุผล ได้แก่ ไม่มีเวลา ไม่ได้ติดตามข่าวสาร และไม่สนใจจะเข้าร่วม เป็นต้น
3. โครงการที่หมู่บ้าน/ชุมชนนำงบประมาณจากโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ดำเนินการ พบว่า ส่วนใหญ่นำไปใช้ในเรื่องของการส่งเสริมการประกอบอาชีพมากที่สุดถึงร้อยละ 81.0 รองลงมาสวัสดิการชุมชนและสันทนาการ ร้อยละ 26.1 การสาธารณูปโภคร้อยละ 10.7 และอื่น ๆ ร้อยละ 0.9
4. โครงการที่หมู่บ้าน/ชุมชนจัดทำขึ้นตรงตามความต้องการ พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้านชุมชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.2 ระบุว่าตรงตามความต้องการมีเพียงร้อยละ 2.6 ระบุว่าไม่ตรงตามความต้องการ และไม่มีความคิดเห็น ร้อยละ 0.2
5. วิธีการดำเนินงานโครงการของหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนส่วนใหญ่ ระบุว่าทำเองทั้งหมด ร้อยละ 42.6 ทำเองและต้องมีคนแนะนำ/ให้ความช่วยเหลือ ร้อยละ 38.4 ขอความช่วยเหลือในการดำเนินงาน ร้อยละ 8.0 และให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ ร้อยละ 0.6 อีกร้อยละ 10.4 ระบุว่าไม่ทราบไม่แน่ใจ
6. ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานโครงการ พบว่า ประชาชนที่เข้าร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.7 ระบุว่าไม่มีปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินโครงการ ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีปัญหา มีเพียงร้อยละ 6.7 ซึ่งมีปัญหา/อุปสรรค ได้แก่ งบประมาณไม่เพียงพอ อนุมัติงบประมาณล่าช้า ความต้องการไม่ตรงกัน และขาดความรู้ความเข้าใจ เป็นต้น
7. ประโยชน์ของโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่ามีประโยชน์ในเรื่องของคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้นร้อยละ 60.7 เป็นการสร้างรายได้ของครัวเรือน ร้อยละ 59.2 สร้างงาน/อาชีพ ร้อยละ 59.1 สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน/พึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 39.5 และสร้างความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 26.7
8. ความพึงพอใจต่อโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พบว่า ประชาชน ระบุว่าพึงพอใจในระดับมากและพึงพอใจในระดับปานกลางอยู่ในสัดส่วนที่เกือบจะเท่ากันคือ ร้อยละ 48.6 และร้อยละ 48.5 ตามลำดับ มีเพียงร้อยละ 2.6 ที่ระบุว่าพึงพอใจน้อยถึงไม่พึงพอใจ
9. ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการพัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีประชาชนประมาณร้อยละ 32.8 ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะได้แก่ ควรมีการติดตามโครงการและดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควรเพิ่มงบประมาณ ควรให้ความรู้ความเข้าใจ/ อบรมมากกว่านี้ และเป็นโครงการที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ