ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคา ผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนตุลาคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2007 09:39 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย   สุวรรณาภรณ์   ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่  13  พฤศจิกายน 2550  คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์รายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ เดือนตุลาคม 2550 โดยสรุป ดังนี้ 
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร การบันเทิง การอ่านและการศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2550 ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนตุลาคม 2550 เท่ากับ 118.4 และเดือนกันยายน 2550 คือ 117.4
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.9
2.2 เดือนตุลาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.5
สำหรับเฉลี่ยช่วงระยะ 10 เดือนแรก (ม.ค. — ต.ค.) ปี 2550 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.1
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนตุลาคม 2550 เมื่อเทียบกับ เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.9 เป็นอัตราค่อนข้างสูงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า (กันยายนสูงขึ้นร้อยละ 0.6) ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาผักสดและผลไม้ อาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่งผลให้ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 1.3 นอกจากนี้ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับสูงขึ้นหลายครั้ง และส่งผลให้อัตราค่าโดยสารสาธารณะปรับสูงขึ้น ทำให้ดัชนี หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.5 แม้ว่าค่ากระแสไฟฟ้าจะมีการปรับลด ค่า Ft ลงก็ตาม
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการสูงขึ้นของราคาผักและผลไม้เป็นสำคัญร้อยละ 5.5 โดยผักสดสูงขึ้นร้อยละ 8.4 ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง มะนาว ผักชี ต้นหอม ถั่วฝักยาว เป็นผลจากการบริโภคเพิ่มขึ้นกว่าปกติในช่วงเทศกาลกินเจ สำหรับผลไม้สดสูงขึ้นร้อยละ 4.1 เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นช่วงปลายฤดูกาล ได้แก่ เงาะ มะม่วง และทุเรียน นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูปสูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ ข้าวราดแกง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ กาแฟผงสำเร็จรูปร้อยละ 1.0 น้ำอัดลมร้อยละ 0.8 ส่วนเนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ราคาลดลง
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.5 ปัจจัยหลัก ยังคงเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นตามภาวะราคาในตลาดโลกที่มีการปรับตัว สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาขายปลีกในประเทศปรับสูงขึ้น โดยน้ำมันเบนซินสูงขึ้น 3 ครั้ง และน้ำมันดีเซลสูงขึ้น 2 ครั้ง ทำให้ดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นร้อยละ 3.1 และยังส่งผลให้ ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 1.5 จากการปรับอัตราค่าโดยสารรถประจำทางตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 50 โดยในกรุงเทพฯ รถร่วมบริการ และมินิบัสปรับสูงขึ้น 50 สตางค์ รถประจำทางปรับอากาศปรับระยะละ 1 บาท ส่วนในต่างจังหวัดรถร่วมบริการปรับอากาศชั้น 1 และชั้น 2 ปรับ 3 สตางค์/กิโลเมตร และค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ำปรับค่าธรรมเนียมสูงขึ้น 100 บาท นอกจากนี้รถยนต์นั่ง รถบรรทุกเล็ก และแบตเตอรี่มีราคาสูงขึ้น ส่วนค่ากระแสไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.7 จากการปรับค่า Ft ลง 0.0231 บาท/หน่วย ในเดือนนี้ (จาก 0.6842 เป็น 0.6611 บาท/หน่วย)
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนตุลาคม 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.5 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2.6 ที่สำคัญคือดัชนีข้าวสารเหนียวสูงขึ้นในอัตราสูงร้อยละ 31.6 ไข่และผลิตภัณฑ์นมร้อยละ 6.5 ผลไม้สดร้อยละ 6.2 กับข้าวสำเร็จรูปร้อยละ 3.5
สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 2.3 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 16.6 บุหรี่และสุราร้อยละ 3.1 การบันเทิง การอ่านและการศึกษาร้อยละ 1.2 และค่าโดยสารสาธารณะร้อยละ 0.8
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2550 เท่ากับ 106.1 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.3
5.2 เดือนตุลาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
สำหรับเฉลี่ยช่วงระยะ 10 เดือนแรก (ม.ค. — ต.ค.) ปี 2550 เทียบกับช่วง เดียวกันของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.1
โดยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนตุลาคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.3 ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของอาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ค่าโดยสารสาธารณะ รถยนต์นั่ง รถบรรทุกเล็ก และแบตเตอรี่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ