รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 10, 2011 14:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2554

Summary:

1. กสิกรชี้หั่นเรทติ้งสหรัฐ กระทบส่งออกของไทย.

2 ADB เตือนเศรษฐกิจเอเชียยังคงอ่อนไหว

3. เงินเฟ้อจีนเดือน ก.ค. พุ่งขึ้นสูงที่ร้อยละ 6.5

Highlight:

1. กสิกรชี้หั่นเรทติ้งสหรัฐ กระทบส่งออกของไทย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย หลังจากที่ที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของสหรัฐลง 1 ขั้นจากระดับ AAA สู่ ระดับ AA+ โดยทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญกับภาวะถดถอยในปี 2555 จนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 1 สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกดดันให้การส่งออกของไทยขยายตัวชะลอลงเหลือต่ำกว่าร้อยละ 5 โดยธุรกิจที่พึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ สูงมีโอกาสได้รับผลกระทบมาก ปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกดดันต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย โดยทำให้อัตราการขยายตัวอาจต่ำลงมาอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 2
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างดี สะท้อนจากตัวเลขมูลค่าการส่งออกล่าสุดเดือน มิ.ย. 54 ที่ยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 16.8 นอกจากนั้น การส่งออกของไทยยังได้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดเอเซียเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดเดือน มิ.ย.54 มีสัดส่วนถึงร้อยละ22.82 และปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นคู่ค้าสำคัญลำดับที่ 3 ของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐกว่าร้อยละ 10.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ซึ่งการกระจายการส่งออกไปยังตลาดเอเชียยังเป็นการแสดงถึงการจำกัดความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาชะลอตัวอีกครั้งจากความเสี่ยงด้านวิกฤติหนี้สาธารณะ และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สถานการณ์ของเงินทุนเคลื่อนย้ายมายังตลาดทุนและเงินในภูมิภาคเอเชียจากปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรป จะเป็นการช่วยผู้ส่งออกไทยผ่านต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)
2. ADB เตือนเศรษฐกิจเอเชียยังคงอ่อนไหว
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยรายงานการติดตามภาวะตลาดทุนเอเชียว่า ตลาดทุนประเทศเกิดใหม่ในเอเชียยังคงอ่อนไหว แต่เชื่อว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ผลกำไรจากบริษัทจดทะเบียนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าสหรัฐฯและยุโรป จะทำให้เงินไหลเข้ามาในปีนี้ แต่เศรษฐกิจเอเชียยังมีความเสี่ยงจากการที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ทำให้ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและสหรัฐฯส่งผลให้ตลาดทุนและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการส่งออกของไทยครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 21.5 และอุปสงค์ภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 12.0 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 -5.0 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.8 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 — 4.8 ต่อปี(คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)
3. เงินเฟ้อจีนเดือน ก.ค. พุ่งขึ้นสูงที่ร้อยละ 6.5
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค.54 ปรับเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย.51 โดยเป็นผลจากราคาอาหารที่แพงขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ว่าธนาคารกลางของจีนจะใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและเพิ่มเงินสดสำรองตามกฎหมายของธนาคารพาณิชย์ แต่สถานการณ์ด้านอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 54 โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค.54 อยู่ที่รัอยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ซึ่งถือเป็นระดับอัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปี และทำให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 54 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่รัอยละ 5.6 อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นผลมาจากดัชนีราคาอาหารขยายตัวร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีสินค้าที่ไม่ใช่อาหารขยายตัวร้อยละ 2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 54 จะยังคงสามารถเติบโตได้ดีที่ร้อยละ 9.2 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย.54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ