รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2011 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 สิงหาคม 2554

Summary:

1. ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. 54 พุ่งเป็นเดือนที่ 2

2. รมว.แรงงานสั่งเก็บข้อมูลแรงงานเพิ่มก่อนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

3. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯเดือนก.ค. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 หรือร้อยละ 0.5

Highlight:
1. ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ค. 54 พุ่งเป็นเดือนที่ 2
  • หอการค้าไทยเปิดเผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 84.1 เพิ่มจากเดือน มิ.ย. 54 ที่ 81.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน สำหรับปัจจัยบวกมาจากผลทางจิตวิทยาเชิงบวกรับรัฐบาลใหม่ที่จะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวระดับสูง รวมถึงการส่งออกที่ขยายตัวดี และค่าเงินบาทที่แข็งค่าลดลง ขณะที่ปัจจัยลบมาจากความกังวลต่อปัญหาค่าครองชีพสูง ราคาสินค้าแพง ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความกังวลต่อภัยพิบัติธรรมชาติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 2 ปี 54 ได้รับแรงส่งจากการส่งออกตามการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก เช่น จีน และประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่มีการส่งออกประมาณร้อยละ 50 ของยอดการผลิตทั้งหมด มีสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะสามารถขยายตัวในช่วงที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0-5.0 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54)
2. รมว.แรงงานสั่งเก็บข้อมูลแรงงานเพิ่มก่อนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
  • รมว.แรงงาน กล่าวว่าได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงาน เร่งสำรวจตัวเลขผู้ใช้แรงงาน และรายได้อย่างละเอียดในพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการผลักดันนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนผู้จบปริญญาตรี 15,000 บาท เนื่องจากเดิมกระทรวงแรงงานไม่มีการรวบรวมเอาไว้ และหลังจากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาในวันที่ 23-24 ส.ค. จะเรียกประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ เพื่อพูดคุยถึงความจำเป็นในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมถึงปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การรวมรวมข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงจำนวนผู้ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ และโครงสร้างรายได้ของแรงงานทั้งประเทศใหม่ จะทำให้สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและมาตรการการบรรเทาผลกระทบหลังมีการปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจากข้อมูลในปี 53 พบว่ามีจำนวนแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำอยู่ 5.4. ล้านคน โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ประมาณร้อยละ 17.5 ซึ่งหากได้ข้อมูลใหม่จะทำให้ภาครัฐจะออกแบบมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ตรงจุดมากขึ้น ทั้งในด้านมาตรการทางภาษี มาตรการด้านสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง และมาตรการพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น
3. ยอดค้าปลีกสหรัฐฯเดือนก.ค. 54 เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 หรือร้อยละ 0.5
  • กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค.54 อยู่ที่ระดับ 3.904 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3ยอดขายยานยนต์และชิ้นส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ0.4ในเดือนที่แล้ว ซึ่งหากไม่นับรวมยอดขายในส่วนนี้ ตัวเลขค้าปลีกสหรัฐฯจะอยู่ที่ระดับ 3.236 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ0.5 จากเดือนมิ.ย. และพุ่งขึ้นร้อยละ8.6 จากเดือนก.ค. 2553
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเพิ่มขึ้นของยอดค้าปลีกเป็นผลมาจากการปรับตัวดีขึ้นของยอดขายยานยนต์และชิ้นส่วนที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และยอดขายน้ำมันสำเร็จรูปตามสถานีน้ำมันที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งนี้ ยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นถือเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67 ของจีดีพีสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังช่วยลดความวิตกกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาหนี้สาธารณะ อย่างไรก็ดี จากตัวเลขว่างงานสหรัฐฯในเดือนมิ.ย. 54 ที่อยู่ที่ร้อยละ 9.2สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีการฟื้นตัวที่เปราะบาง ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะใช้นโยบาย QE3 ในการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือไม่

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ