รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 16, 2011 12:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 สิงหาคม 2554

Summary:

1. ราคาข้าวมีแนวโน้มแพงขึ้นอีก

2. ประธานธนาคารโลกชี้เงินเฟ้อกดดันจีนให้เงินหยวนแข็งค่า

3. เศรษฐกิจ Q2 ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -1.3 น้อยกว่าคาด

Highlight:
1. ราคาข้าวมีแนวโน้มแพงขึ้นอีก
  • สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากสหรัฐประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงประมาณร้อยละ 20 ทำให้ราคาข้าวปรับตัวสูงขึ้น 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวของไทย ปรับเพิ่มขึ้นตามนโยบายรับจำนับข้าวตันละ 15,000 บาท ที่คาดว่าจะเริ่มใช้นโยบายในเดือนพฤศจิกายน 54 ซึ่งเวียดนามก็ได้ปรับราคาข้าวตามไทย ขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาข้าวไทยจะคงสูงอย่างต่อเนื่องตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยที่การส่งออกข้าวของไทยล่าสุดในเดือน มิ.ย.54 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนร้อยละ 60.7 หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 614.0 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 54 (ม.ค. — มิ.ย. 54) มีการขยายตัวร้อยละ 44.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,498 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดีต้องติดตามว่าการส่งออกข้าวของไทยในครึ่งปีหลังก็ต้องไทยจะสามารถส่งออกข้าวได้มากหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเพาะปลูก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีหลังตามที่คาดการณ์ โดยคาดว่าทั้งปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 8.0 — 10.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ณ มิ.ย. 54)
2. ประธานธนาคารโลกชี้เงินเฟ้อกดดันจีนให้เงินหยวนแข็งค่า
  • ประธานธนาคารโลกกล่าวว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในจีนที่มากขึ้นทำให้ผู้กำหนดนโยบายต้องยอมให้เงินหยวนแข็งค่าเพื่อต่อสู้กับแรงกดดันด้านราคา โดยดัชนีราคาผู้บริโภค ณ ก.ค.54 ของจีน เพิ่มระดับแตะร้อยละ 6.5 สูงสุดในรอบ 3 ปี แม้ว่าภาคธนาคารจะพยายามลดการปล่อยกู้และเพิ่มกันสำรองเงินสดพรอ้มกับปรับขึ้นอัตราถึง 5 ครั้ง นับ จาก ต.ค.53 เป็นต้นมา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่ามาตรการการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และเพิ่มระดับทุนสำรองเงินสดของธนาคาร เพื่อจำกัดการปล่อยกู้และลดสภาพคล่องในระบบ (ที่เป็นแรงผลักให้ต้นทุนการบริโภคสูงขึ้น) จะช่วยให้การลงทุนในเขตเมืองและการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลง และส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าสูงสุดในรอบ 17 ปี โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 6.585 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวยังไม่สามารถหยุดยั้งปัญหาเงินเฟ้อของจีนที่ยังคงพุ่งขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยนับจากต้นปีอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร โดยเมื่อ ก.ค.54 ขยายตัวถึงร้อยละ 14.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตลอดจนผลผลิตภาคการเกษตรที่เสียหายจากปัญหาภัยแล้งในช่วงที่ผ่านมา
3. เศรษฐกิจ Q2 ญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -1.3 น้อยกว่าคาด
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2 ของปี 54 หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า) ซึ่งต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจอาจหดตัวร้อยละ -2.6 ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจมีการฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -1.3 เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐมีการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมงวดที่ 2 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์สึนามิวงเงิน 2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 25.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยส่วนหนึ่งเป็นการช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชนและธุรกิจขนาดเล็ก ขณะที่ยอดค้าปลีกในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนโดยขยายตัวร้อยละ 1.1 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้วไปในไตรมาสที่ 2 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยในเดือน มิ.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 0.2 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวร้อยละ 0.1 ดัชนีคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 54 สูงที่สุดในรอบ 3 เดือนที่ระดับ 52.1 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุนหดตัวชะลอลงกว่าที่คาดการณ์ อย่างไรก็ดียังคงมีปัจจัยลบจากอัตราการว่างงานในเดือน มิ.ย. 54 ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 4.6 ของกำลังแรงงานรวม ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ -0.6 (คาดการณ์ ณ เดือนมิ.ย. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ