ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรป สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 17, 2011 07:31 —กระทรวงการคลัง

ภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก

วิกฤติการเงินยุโรปเริ่มลุกลามสู่สเปนและอิตาลี สร้างความผันผวนตลาดการเงินโลก
  • ขณะนี้วิกฤติยุโรปกำลังลุกลามสร้างความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนโลก โดยนักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นและประเมินว่าปัญหาวิกฤติยุโรปจะลามไปสู่อิตาลีและสเปน เนื่องจากคาดการณ์ว่า กองทุน EFSF ซึ่งเป็นกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศในเขตยูโรโซน ที่มีวงเงิน 440 พันล้านยูโร (ซึ่งปัจจุบันได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ กรีซ ไอร์แลนด์ และโปรตุเกส แล้ว) จะมีขนาดไม่เพียงพอที่จะให้ความช่วยเหลือแก่อิตาลีและสเปน ซึ่งมี่ระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามและสี่ในยุโรป ส่งผลให้ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรและตลาดเงินในโลกผันผวนมาก
  • ผลกระทบต่อตลาดทุน ตลาดพันธบัตร และตลาดเงินโลก ตลาดหุ้นในสหรัฐและยุโรป ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง โดยภายในวันเดียว ตลาดหุ้นสหรัฐ S&P ปรับลด -4.78% Dow Jones ปรับลดลงถึง -4.3% ตลาดหุ้น DAKS เยอรมนี ปรับลด -3.4% ตลาดหุ้นFTSE อังกฤษ ปรับลด -3.4%
  • ตลาดพันธบัตรผันผวนมาก โดยต้นทุนดอกเบี้ยการกู้เงินของพันธบัตรอายุ 10 ปี ของสเปนและอิตาลี ได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนี่อง และปัจจุบัน อยู่ที่ร้อยละ 6.21 และ 6.12 ตามลำดับ และสูงเกินกว่าร้อยละ 6 ซึ่งเป็นระดับอันตรายที่กรีซ โปรตุเกส และไอร์แลนด์ ขาดความสามารถชำระหนี้ได้และต้องขอความช่วยเหลือจาก EU & IMF ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยกู้เงินของรัฐบาลสเปนและอิตาลียังอยู่ในระดับสูงนี้ต่อไป อาจส่งผลให้รัฐบาลสเปนและอิตาลี ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (ปัญหานี้ ในทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ เป็นปัญหา Self -fulfilling Crisis กล่าวคือ เมื่อนักลงทุนเชื่อว่าสเปนและอิตาลีจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็จะแห่เทขายพันธบัตรสเปนและอิตาลี ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยการกู้เงินของรัฐบาลอิตาลีปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะทำให้รัฐบาลสเปนและอิตาลีไม่สามารถชำระหนี้ได้จริงๆ ต้องประสบกับวิกฤติการเงิน ทั้งๆ ที่ปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสเปนและอิตาลียังไม่ถึงกับต้องประสบวิกฤติการเงินก็ตาม)
  • ตลาดการเงินในยุโรปขาดสภาพคล่อง สะท้อนดอกจากต้นทุนการกู้เงินในตลาดเงินได้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะต้นทุนการกู้เงินระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ในยุโรป ที่วัดโดย Swap Spread และ Euribor-OIS Spread ได้ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
  • สินทรัพย์ที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย Safe haven assets ได้แก่ ทองคำ ได้ปรับสูงขึ้น โดยปัจจุบันอยู่สูงเกิน 1,650 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เนื่องจากนักลงทุนได้ถอนเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง มาถือสินทรัพย์ที่ปลอดภัย โดยเฉพาะทองคำ (ในอดีตนักลงทุนมักจะถือทองคำและพันธบัตรสหรัฐเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่ปัจจุบันนี้ นักลงทุนประเมินว่าพันธบัตรสหรัฐไม่ใช่สินทรัพย์ปลอดภัยในขณะนี้ เนื่องจากสหรัฐมีปัญหาหนี้สาธารณะสูงและอาจถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือในไม่ช้านี้)
ความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อประเทศไทย
  • ระยะสั้น : ตลาดเงินและตลาดทุนไทยอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะหากนักลงทุนเกิดความกังวลในสถานการณ์วิกฤติในยุโรปอีก คาดว่าจะส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศแห่ถอนเงินจากยุโรปและจากหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง (Risky Assets เช่น ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทย) เข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Safe Haven) เช่น ทองคำ และเงินทุนอาจจะไหลออกจากไทยในระยะสั้น (ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา) อย่างไรก็ดี หากเงินทุนไหลออกมีความรุนแรงมาก ประเทศไทยที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศจำนวนมากถึง 186 พันล้านเหรียญสหรัฐ (สูงกว่าหนี้ระยะสั้น เกินกว่า 3.5 เท่า) น่าจะเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนดังกล่าวได้
  • ระยะยาว : หากวิกฤติของเศรษฐกิจขยายไปสู่ยุโรปในวงกว้าง จะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอลงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสัดส่วนการค้าของไทยกับยุโรปมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 10 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด ขณะเดียวกันสัดส่วนของจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปมายังประเทศไทยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1.เฝ้าระมัดระวังติดตามสถานการณ์และพัฒนาการของวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในประเด็นของการแพร่ขยายของวิกฤติกรีซ ไปสู่อิตาลีและสเปน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 และ 4 ในสหภาพยุโรป ดังนั้น หากอิตาลีและสเปนประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อไหร่ จะสร้างความผันผวนให้เศรษฐกิจยุโรปและเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง

2.เร่งกระจายตลาดการส่งออกไปสู่ตลาดอื่นๆ ที่มีการเติบโตดี เช่น ประเทศในเอเชีย ที่มีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในภูมิภาคอื่นๆ และเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนในประเทศ เพื่อลดผลกระทบในกรณีที่การส่งออกไปยังยุโรปลดลง

3.เน้นรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศ โดยเฉพาะเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศที่อาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ โดยในระยะสั้น คงต้องใช้กลไกของการดูแลรักษาเสถียรภาพของค่าเงินโดยใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งมีอยู่เพียงพอ (สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น เกินกว่า 3.5 เท่า)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group : Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ