รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 17, 2011 12:06 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 17 สิงหาคม 2554

Summary:

1. นายแบงค์เตือนขยับกรอบเงินเฟ้อต้องรอบคอบ

2. แบงก์ชาติเชื่อปัญหาสหรัฐ-ยุโรปไม่กระทบส่งออกไทย

3. เศรษฐกิจฮ่องกงและสิงคโปร์เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย

Highlight:
1. นายแบงค์เตือนขยับกรอบเงินเฟ้อต้องรอบคอบ
  • ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การกำหนดกรอบเงินเฟ้อที่เหมาะสมจะต้องดูตามพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกควบคู่ไปด้วย ซึ่งปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ประเทศไทยต้องดูข้อดีข้อเสียของการขยายกรอบเงินเฟ้อ โดยจะต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอ หรือไม่ทำให้เสียรภาพทางการเงินด้อยลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสาเหตุหลักมาจากเงินเฟ้อด้านอุปทาน โดยเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ดังนั้น การปรับกรอบเงินเฟ้อควรพิจารณาอย่างรอบครอบ เพื่อให้สามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อในช่วง 7 เดือนแรกของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างมีความแปรปรวนทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นตาม ประกอบกับราคาน้ำมันในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 7 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.3 — 4.8 คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)
2. แบงก์ชาติเชื่อปัญหาสหรัฐ-ยุโรปไม่กระทบส่งออกไทย
  • ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานถึง ปัญหาในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะไม่กระทบต่อภาคส่งออกไทย เนื่องจากปัจจุบันส่งออกไทยมีการกระจายอยู่ในหลายตลาด โดยสัดส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ มีเพียงร้อยละ 11 ของการส่งออกทั้งหมด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวอย่างมั่นคง โดยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกล่าสุดเดือน มิ.ย. 54 ที่มีการขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.8 มูลค่าการส่งออก 21.07พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ55.7 และ 43.1ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศแถบอาเซียน ญี่ปุ่น มีสัดส่วนที่ร้อยละ 22.82 และ12.58 ตามลำดับ โดยสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10.50 และ9.39 ตามลำดับของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย แสดงให้เห็นว่าการส่งออกของไทยได้มีการกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดเอเซียมากขึ้น และยังจำกัดความเสี่ยงด้านการส่งออกของไทยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกลับมาชะลอตัวอีกครั้งจากความเสี่ยงด้านวิกฤติหนี้สาธารณะ และปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 54 มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการจะยังคงขยายตัวได้ดีโดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 16.6-18.6 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย. 54)
3. เศรษฐกิจฮ่องกงและสิงคโปร์เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
  • นักวิเคราะห์ของไดวา แคพิทัล มาร์เก็ตส์ รายงานว่า GDP ของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 หดตัวลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่กระทรวงการค้าสิงคโปร์รายงานว่า GDP ของสิงคโปร์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 หดตัวลงร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างมองว่า เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิคของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงหดตัวลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่เริ่มชัดเจนมากขึ้นส่งผลให้ฮ่องกงและสิงคโปร์ที่เป็นประเทศพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักต้องเผชิญกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยล่าสุด GDP ของฮ่องกงในไตรมาสที่ 2 ปี 54 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวลงร้อยละ -0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.1 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าหดตัวลงร้อยละ -11.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 14.4 ในขณะที่ GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2 ปี 54 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวลงร้อยละ -1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 6.2 โดยเป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.1 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 24.6 กอปรกับในภาคการผลิตเริ่มมีสัญญาณการหดตัว ซึ่งสะท้อนจากดัชนีคำสั่งซื้อผู้จัดการฝ่ายผลิต (Mfg PMI) ในเดือน ก.ค. 54 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ที่ระดับ 49.3 ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวลดลงของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก และเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ของการผลิตสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงและสิงคโปร์ในปี 54 จะสามารถเติบโตได้ที่ร้อยละ 5.5 และ 5.3 (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ