รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2554

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 22, 2011 11:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 สิงหาคม 2554

Summary:

1. โฆสิตติงรัฐไม่ควรเร่งสปีดนโยบายต่างๆ แนะเตรียมพร้อมรับความผันผวน

2. ททท.คาดปี 2554 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 1.4 ล้านคน

3. ตลาดหลักทรัพย์เอเชียปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน

Highlight:
1. โฆสิตติงรัฐไม่ควรเร่งสปีดนโยบายต่างๆ แนะเตรียมพร้อมรับความผันผวน
  • นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธ.กรุงเทพ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในหลายประเทศทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อสูงบรรเทาลง ดังนั้น หากหยุดหรือชะลอการปรับอัตราดอกเบี้ยคงไม่เป็นปัญหา และคาดว่าในปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัว 4% ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงครึ่งปีหลังไม่ควรเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเร่งสปีดผ่านนโยบายต่างๆ มากนัก เพราะต้องเตรียมพร้อมสำหรับความผันผวนข้างหน้ารออยู่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก จากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่กำลังชะลอตัว และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ทั้งนี้ เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 54 บ่งชี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี ตามรายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับสูง และการส่งออกที่ยังเติบโตในเกณฑ์ดี รวมทั้ง สัญญาณกาฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์จากผลกระทบภัยพิบัติสึนามิที่ญี่ปุ่น ทั้งนี้ นโยบายต่างๆ ของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ในปี 2554 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 54)
2. ททท.คาดปี 2554 นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยกว่า 1.4 ล้านคน
  • ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)สำนักงานปักกิ่ง คาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดจีนในปี 2554 ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากปี 2553 เนื่องจากได้รับผลบวกจากเศรษฐกิจจีนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าในปี 2554 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยทั้งสิ้นจำนวน 1.4 ล้านคน มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพประมาณร้อยละ 30 ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมด ส่วนในไตรมาสที่ 4 ททท.จะกระตุ้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงเพิ่มขึ้นโดยเจาะกลุ่มกอล์ฟ และกลุ่มแต่งงาน โดยจะใช้แพ็คเกจส่งเสริมการท่องเที่ยวประกอบ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 54 มีจำนวน 11.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 26.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจำนวน 1.0 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.0 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดปี 53) ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 73.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนว่านักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีส่วนสนันสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยในปี 2554 อย่างไรก็ดี ยังพบว่า นักท่องเที่ยวจีนมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวและเดินทางเฉลี่ยต่ำประมาณ 3,000 บาทต่อวันต่อคน ซึ่งหากมีนโยบายกระตุ้นเพิ่มการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนได้จะมีส่วนเพิ่มรายได้ให้ภาคการท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น
3. ตลาดหลักทรัพย์เอเชียปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน
  • ตลาดหลักทรัพย์เอเชียปรับตัวลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยที่ดัชนี Kopi ของประเทศเกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นระดับที่ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 52 ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นลดลงที่ร้อยละ 2.2 ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกงลดลงที่ร้อยละ 2.6 และดัชนี STI ของสิงค์โปร์ ลดลงที่ร้อยละ 2.5 หลังจากที่ สถาบันการเงินมอร์แกน สแตนด์เลย์ ปรับลดการประมาณการดัชนีหลักทรัพย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากการขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 ลดลงเหลือที่ร้อยละ 1.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ของเอเชียปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลของโอกาสที่ประเทศตะวันตกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยก่อนหน้านี้สหรัฐฯถูกสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ปรับลดความน่าเชื่อถือทางการเงินลดลงจาก AAA เป็น AA+ ซึ่งเป็นการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ประกอบกับการแก้ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของยุโรปที่ยังไม่คืบหน้า ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยนักลงทุนหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ทองคำแท่งส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 1,878.28 ดอลลาร์/ออนซ์ ณ วันที่ 19 ส.ค. 54 อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไปสหรัฐฯอาจมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ สถานการณ์ปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปมีความผ่อนคลายขึ้น ตลาดหลักทรัพย์น่าจะปรับตัวเข้าสู่สภาวะปกติ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ