การประชุม PDMO-Market Dialogue เพื่อรับฟังความคิดเห็นในแผนการระดมทุน ของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2011 10:01 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้จัดการประชุม PDMO — Market Dialogue ประจำปี งปม. 2554 ในวันที่ 7 กันยายน 2554 ซึ่งเป็นการประชุมหารือแบบหลายฝ่ายระหว่าง สบน. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) และผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ จำนวน 100 ราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันและความต้องการของนักลงทุนเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปี งปม. 2555 และแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศในอนาคต ซึ่งในการประชุมดังกล่าวมีหัวข้อ ดังนี้

1. ความต้องการระดมทุนในปี งปม. 2555

2. แนวทางการระดมทุนในปี งปม. 2555 และผลการออกตราสารหนี้ในปี งปม. 2551 — 2554

2.1. แผนการระดมทุนประจำปี งปม. 2555

2.2. แผนการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ FIDF ภายใต้ พรบ. หนี้สาธารณะ

3. การยกระดับระบบผู้ค้าหลัก (Primary Dealers : PDs)

3.1. หน้าที่ของ PDs ประเภท Outright

3.2. ผลการปฏิบัติหน้าที่ของ PDs และ Dealers ในตลาดแรกและตลาดรอง

3.3. การนำสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของ PDs ในต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย

3.4. กรอบเวลาในการปรับปรุงสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของ PDs ประเภท Outright ของกระทรวงการคลัง

4. หน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF)

5. สบน. นำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมตลาดและข้อมูลอื่นประกอบการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในปี งปม. 2555

2.1.1. การสร้างความต่อเนื่องของพันธบัตรรัฐบาล

การออกพันธบัตรรัฐบาล (Loan Bond : LB) ในปี งปม. 2555 มีวงเงินรวม 540,000 ล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตร Benchmark เพื่อสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง รุ่นอายุ 5 ปี 7 ปี และ 10 ปี ให้มียอดคงค้างที่ประมาณรุ่นละ 100,000 ล้านบาท 65,000 ล้านบาท และ 60,000 ล้านบาท ตามลำดับ เพื่อให้มีปริมาณพันธบัตรหล่อเลี้ยงตลาดเพียงพอที่จะสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง

สำหรับพันธบัตร Benchmark ระยะยาว รุ่นอายุ 15 ปี 20 ปี 30 ปี ในปี งปม. 2555 สบน. กำหนดวงเงินการออกพันธบัตรรุ่นดังกล่าวที่ประมาณรุ่นละ 35,000 ล้านบาท 35,000 ล้านบาท และ 20,000 ล้านบาท ตามลำดับ และกำหนดวงเงินของพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 50 ปี ที่ประมาณ 15,000 ล้านบาท โดยเปลี่ยนลักษณะการออกจากการออกรายไตรมาสเป็นการออกทุกเดือนคี่

การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bond : FRB) เพียงรุ่นเดียว โดยทำการ Reopen ตลอดทั้งปี ในปี งปม. 2554 ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ในปี งปม. พ.ศ. 2555 สบน. จึงจะออก FRB รุ่นอายุ 4 ปี จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 8,000 — 11,000 ล้านบาท ให้มียอดคงค้างที่ประมาณ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อสร้างสภาพคล่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดกรุงเทพ (BIBOR) และ FRB อย่างต่อเนื่อง

การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยแปรผันตามการเปลี่ยนแปลงของเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB) ในปี งปม. 2554 สบน. มีการออก ILB รุ่นอายุ 10 ปี วงเงิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นอย่างดี พร้อมทั้งนักลงทุนมีความต้องการให้ สบน. Reopen ILB รุ่นเดิมอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดรอง ดังนั้น ในปี งปม. 2555 สบน. มีแผนที่จะทำการ Reopen ILB รุ่นอายุ 10 ปี เพื่อให้มียอดคงค้างที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อสร้างสภาพคล่องในตลาดรองให้ตอบรับความต้องการของนักลงทุน

2.1.2. กลยุทธ์ในการออกเครื่องมือใหม่

ภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย พันธกิจที่ 2 (พัฒนาคุณภาพและความหลายหลายของสินค้าและบริการ) มาตรการที่ 8 (การพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ) กำหนดให้ สบน. และ ธปท. ร่วมกันรับผิดชอบการพัฒนาออกพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 3 ปี ภายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ซึ่ง สบน. มีแนวทางที่จะออก LB รุ่นอายุ 3 ปี ให้มียอดคงค้างที่ประมาณ 100,000 ล้านบาท โดยออกทุกเดือนคี่ จำนวน 6 ครั้ง ตลอดทั้งปีเพื่อพัฒนาให้เป็นหนึ่งในพันธบัตร Benchmark อนึ่ง เนื่องจาก ธปท. มีการออกพันธบัตรรุ่นอายุ 3 ปี อยู่อย่างสม่ำเสมอ สบน. จึงจะมีการประสานงานกับ ธปท. ในการจัดตารางการออก LB รุ่นอายุ 3 ปี ให้เหมาะสมต่อไป

2.2. แผนการกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ FIDF ภายใต้ พรบ. หนี้สาธารณะ

2.2.1. การปรับโครงสร้างหนี้ FIDF ที่ครบกำหนดมากกว่า 50,000 ล้านบาท ภายในวันเดียว โดยการกู้เงินล่วงหน้า (Pre-Funding) ผ่านกองทุนบริหารเงินกู้เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้สาธารณะและพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศ (วงเงินรวม 295,122 ล้านบาท)

พันธบัตรรัฐบาลเพื่อ FIDF (LB11NA) วงเงิน 89,099 ล้านบาท

สบน. มีแผนที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ LB11NA โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Notes: P/N) รุ่นอายุไม่ต่ำกว่า 4 ปี ซึ่งจะเป็นการ Pre-Funding วงเงิน 39,000 ล้านบาท ก่อนวันครบกำหนดและปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการปกติ วงเงิน 50,099 ล้านบาท

การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติเพื่อ FIDF อายุ 10 ปี (SB129A) วงเงิน 206,023 ล้านบาท

สบน. มีแผนที่จะดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ SB129A ด้วยการ Pre-Funding วงเงิน 154,000 ล้านบาท โดยการ LB รุ่นอายุ 3 ปี LB รุ่นอายุ 7 ปี และ FRB รุ่นอายุ 4 ปี ในวงเงิน 81,000 ล้านบาท 39,000 ล้านบาท และ 34,000 ล้านบาท ตามลำดับ และปรับโครงสร้างหนี้ด้วยวิธีการปกติ โดยการออก P/N รุ่นอายุ ไม่ต่ำกว่า 4 ปี LB รุ่นอายุ 3 ปี LB รุ่นอายุ 7 ปี และ FRB รุ่นอายุ 4 ปี ในวงเงิน 11,023 ล้านบาท 19,000 ล้านบาท 14,000 ล้านบาท และ 8,000 ล้านบาท

2.2.2. การปรับโครงสร้างหนี้ FIDF ในส่วนที่เหลือด้วยวิธีการปกติ (วงเงินรวม 45,000 ล้านบาท)

สบน. มีแผนที่จะปรับโครงสร้างหนี้ LB123A และ SB128A ที่ครบกำหนดน้อยกว่า 50,000 ล้านบาท ภายในวันเดียว โดยการออก LB รุ่นอายุ 7 ปี FRB รุ่นอายุ 4 ปี และ P/N รุ่นอายุไม่ต่ำกว่า 4 ปี ในวงเงิน 12,000 ล้านบาท 8,000 ล้านบาท และ 25,000 ล้านบาท ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จะเป็นที่สังเกตุได้ว่าการปรับโครงสร้างหนี้ FIDF วงเงิน 340,122 ล้านบาท นั้น สบน. มีการใช้ตั๋วสัญญาใช้เงิน พันธบัตรรัฐบาลอายุสั้น และพันธบัตรรัฐบาลประเภทอัตราดอกเบี้ยลอยตัวเป็นเครื่องมือหลักเนื่องจากเครื่องมือดังกล่าวมีความยืดหยุ่น 3 ประการหลักที่สำคัญ คือ อายุสั้น ต้นทุนต่ำ และสามารถไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้สำหรับตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งจะเป็นการเตรียมการรองรับความเป็นไปได้ในการชำระคืนหนี้ FIDF ของธนาคารแห่งประเทศไทยในอนาคตอันใกล้

3. การยกระดับระบบผู้ค้าหลัก (Primary Dealers : PDs)

จากการเรียกร้องของ PDs และภายใต้แผนพัฒนาตลาดทุนไทย พันธกิจ (มาตรการเสริม) ที่ 3 มาตรการที่ 3.1 ที่กำหนดให้ สบน. และ ธปท. ปรับปรุงสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของ PDs ในตลาดตราสารหนี้ให้เหมาะสม เพื่อให้ทำหน้าที่ Market Maker ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายในเดือนธันวาคม 2555 สบน. ได้มีการหารือนอกรอบกับ ธปท. และ ThaiBMA ในหลายโอกาสแล้ว มีความเห็นและข้อสังเกตร่วมกันดังนี้

3.1 หน้าที่ของ PDs ประเภท Outright

เห็นควรให้ PDs ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ ธปท. กำหนดสำหรับในตลาดแรกและตลาดรองตามประกาศ ธปท. ปี 2545 อย่างต่อเนื่องไปก่อน

3.2 ผลการปฏิบัติหน้าที่ของ PDs และ Dealers ในตลาดแรกและตลาดรอง

การทำหน้าที่ในตลาดแรก ในช่วงปีงบประมาณ 2551 ถึง ครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2554

การประมูลพันธบัตรรัฐบาล : ในแต่ละปี มี PDs เฉลี่ยจำนวน 7 ราย จากทั้งหมด 9 ราย ที่สามารถเข้าประมูลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดประมูลพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด โดยมี Dealer เฉลี่ยจำนวน 2 รายทำหน้าที่ได้เหมือน PDs

การประมูลตั๋วเงินคลัง : ในแต่ละปี มี PDs เฉลี่ยจำนวน 7 ราย จากทั้งหมด 9 รายที่สามารถเข้าประมูลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดประมูลตั๋วเงินคลังทั้งหมด โดยมี Dealer เฉลี่ยจำนวน 3 รายทำหน้าที่ได้เหมือน PDs

การทำหน้าที่ในตลาดรอง ในปีงบประมาณ 2553

มี PDs จำนวน 8 ราย จากทั้งหมด 9 รายที่สามารถเข้าประมูลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดประมูลพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด โดยมี Dealer จำนวน 1 รายทำหน้าที่ได้เหมือน PDs

3.3 การนำสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของ PDs ในต่างประเทศมาปรับใช้กับประเทศไทย

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา สบน. ได้ทำการศึกษาการกำหนดสิทธิประโยชน์และหน้าที่ของ PDs ในต่างประเทศ และอยู่ในขั้นตอนพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ เช่น

(1) Exclusivity คือ สิทธิสำหรับ PDs ในการประมูลพันธบัตรในตลาดแรก ซึ่งจะเป็นการให้สิทธิในการเข้าประมูล

Benchmark Bond เพียง 1 รุ่นก่อน

(2) Mini-Tender คือ สิทธิสำหรับ PDs ในการประมูลพันธบัตรรัฐบาล ในภาวะที่รัฐบาลต้องการระดมทุนฉุกเฉิน โดยจะประมูลรุ่นที่เฉพาะเจาะจง และมีการประกาศล่วงหน้าประมาณ 4 สัปดาห์

(3) Green Shoes คือ สิทธิในการซื้อพันธบัตร เพิ่มเติม ได้อีก 10-20 % ของวงเงินที่ได้รับจัดสรร โดยสามารถซื้อได้ที่ Average Accepted Yield และซื้อได้ภายใน 2 วันถัดจากการประมูล

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการให้สิทธิประโยชน์กับ PDs โดยเฉพาะการให้ Exclusivity ในการประมูลในตลาดแรกเป็น เรื่องละเอียดอ่อน เพราเป็นการยกเว้นการให้สิทธินักลงทุนอื่นๆ ในการเข้าประมูลในตลาดแรก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการกำหนดสิทธิด้าน Exclusivity ให้เหมาะสม เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการได้รับวงเงินไม่ครบตามความต้องการด้วย ในการนี้ สบน. จึงจะพิจารณาการให้ Exclusivity กับการประมูลพันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปี เพราะเป็นรุ่นที่นักลงทุนเข้าประมูลตรงเป็นสัดส่วนที่น้อยที่สุด คือเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น ซึ่งส่งผลให้พันธบัตรรุ่นอายุ 5 ปีมีการซื้อขายในตลาดรองสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ในการนี้ สบน. จะมีการหารืออย่างเป็นทางการกับ PDs และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในปี 2554 เพื่อให้การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของ PDs มีผลบังคับใช้ได้ในปี 2555

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2556 เป็นต้นไป สบน. จะจัดให้มีการกำกับ ติดตาม และประเมินผลการทำหน้าที่ของ PDs อย่างเป็นระบบ และจะมีการทบทวนรายชื่อ PDs ประเภท Outright ของกระทรวงการคลังทุกปี

4. หน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility : CGIF)

การจัดตั้งหน่วยงานค้ำประกันเครดิตและการลงทุน (Credit Guarantee and Investment Facility: CGIF) เป็นความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) และเป็นส่วนหนึ่งภายใต้แผนงานของมาตรการริเริ่มการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย (Asian Bond Market Initiative : ABMI) CGIF ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการออกตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในประเทศอาเซียน+3 ลดความเสี่ยงจากความเหลื่อมล้ำของระยะเวลาการให้เงินกู้และระยะเวลาการลงทุนของกิจการ (Maturity Mismatch) และช่วยลดความความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Currency Mismatch) ของภาคเอกชนในการระดมทุน โดย CGIF จะทำหน้าที่ค้ำประกันตราสารหนี้ของภาคเอกชนที่มี Local Credit Rating ไม่ต่ำกว่าระดับ Investment-grade (BBB) ที่จะออกขายในตลาดตราสารหนี้ของประเทศอาเซียน+3 โดยตราสารหนี้นั้นจะออกเป็นสกุลเงินท้องถิ่นหรือสกุลเงินอื่นก็ได้ แต่ในกรณีที่เป็นสกุลเงินอื่น ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องมีรายได้ที่เป็นสกุลเงินเดียวกับที่ได้ออกตราสารหนี้นั้น (Naturally Hedge) ตัวอย่างเช่น หากบริษัทเอกชนรายหนึ่งต้องการระดมทุนเป็นเงินเยนโดยการไปออกตราสารหนี้ในประเทศญี่ปุ่น เอกชนรายนั้นก็จะต้องมีรายได้ในรูปเงินเยนด้วย

กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 รวม 13 ประเทศและ ADB ร่วมกันลงทุนในเบื้องต้น 700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีญี่ปุ่นและจีนเป็นผู้ร่วมลงทุนรายใหญ่ที่สุด รองลงมาเป็น ADB และเกาหลีใต้ตามลำดับ สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศรวมกันลงทุนเป็นเงิน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของเงินทุนจัดตั้ง การที่ CGIF มีผู้ถือหุ้นเป็นรัฐบาลถึง 13 ประเทศและยังมีองค์กรระหว่างประเทศอีก 1 แห่ง อันดับความน่าเชื่อถือของ CGIF จึงเป็น AAA (International) ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดและเป็นอันดับที่แข็งแกร่งกว่าอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้น เมื่อ CGIF ค้ำประกันตราสารหนี้ ให้เอกชนรายใดก็จะยกระดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้เอกชนรายนั้นให้เท่ากับ CGIF ไปด้วย

ในช่วงแรกของการดำเนินงานประเทศสมาชิกได้กำหนดนโยบายร่วมกันว่า ให้ CGIF ดำเนินงานอย่างระมัดระวังไปก่อน ดังนั้น จึงได้กำหนดสัดส่วนของทุนต่อการค้ำประกัน (Leverage Ratio) ของ CGIF ไว้ที่ 1:1 กล่าวคือ ถ้า CGIF มีเงินทุนจัดตั้ง 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ก็จะสามารถค้ำประกันตราสารหนี้ได้ในวงเงิน 700 ล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน และเพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงของการให้บริการค้ำประกันและเพื่อให้ประเทศทุกประเทศมีโอกาสในการเข้าถึงบริการของ CGIF ได้มากขึ้น จึงมีการกำหนดวงเงินการค้ำประกันตราสารหนี้ในแต่ละประเทศ (Country Limits) ได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของเงินทุนดำเนินงานของ CGIF หรือเท่ากับ 140 ล้านเหรียญสหรัฐ

ประโยชน์ของ CGIF ต่อภาคเอกชนไทย

เนื่องจากในขณะนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการอำนวยการของ CGIF โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งเพียง 3 ปี (2553-2556) หลังจากนั้นตำแหน่งดังกล่าวจะเวียนเป็นของประเทศอื่น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีสำหรับภาคเอกชนไทยที่มีความสนใจจะขอใช้บริการการค้ำประกันตราสารหนี้จาก CGIF เนื่องจากคณะกรรมการอำนวยการ(Board of Directors) จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการค้ำประกันตราสารหนี้ของ CGIF โดย CGIF จะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบประมาณเดือนเมษายน 2555 เป็นต้นไปโดยจะตั้งสำนักงานที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และจะให้บริการในลักษณะ First Come First Serve ดังนั้น ในระยะแรกนี้ หากมีภาคเอกชนไทยรายใดสนใจขอรับบริการจาก CGIF สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

5. สบน. นำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมตลาดและข้อมูลอื่นประกอบการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในปี งปม. 2555

ในการกำหนดแนวทางการออกพันธบัตรในปี งปม. 2555 นั้น สบน. พิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่น

? ผลการจัดเก็บรายได้จริงเทียบกับประมาณการและการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อวางแผนและวงเงินในการระดมทุนโดยให้ความผันผวนในด้านรายได้และรายจ่ายไม่ส่งผลกระทบต่อการออกพันธบัตร Benchmark

? ความต้องการของตลาด โดย สบน. ได้สำรวจความคิดเห็นของ Primary Dealers (PDs) และผู้ร่วมตลาดอย่างสม่ำเสมอผ่านการจัดทำ Market Dialogue เป็นรายไตรมาส (การหารือแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับ PDs) และรายปี (การประชุมกับผู้ร่วมตลาดทั้งหมด)

? แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและความสอดคล้องกันระหว่างการออกพันธบัตรรัฐบาลและการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย สบน. ได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การประชุมคณะทำงานเพื่อการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล การประชุมคณะทำงานพิจารณาการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF เป็นต้น

? ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการระดมทุนด้วยเครื่องมือต่างๆ ในปี งปม. 2550 — 2554 เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาล

สบน. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ร่วมตลาดในวันนี้ ไปประกอบการพิจารณาแผนการระดมทุนประจำปี งปม. 2555 และนำเสนอชุดทำงานต่างๆเพื่อให้ความเห็นชอบในการระดมทุน ซึ่ง สบน. จะประกาศตารางการประมูลประจำไตรมาสที่ 1/2555 ณ สิ้นเดือน กันยายน 2554

ทั้งนี้ สบน. ขอขอบคุณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย Primary Dealers และผู้ร่วมตลาดที่เข้าร่วมในการประชุม PDMO Market Dialogue ในวันนี้ โดย สบน. จะจัดการประชุม PDMO Market Dialogue อย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศต่อไป

สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ

02-265-8050 ต่อ 5806, 5807

www.pdmo.go.th

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 96/2554 7 กันยายน 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ