รายงานภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น ประจำสัปดาห์วันที่ 5 - 9 กันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 10:05 —กระทรวงการคลัง

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ดังนี้

1. รัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการขึ้นอัตราภาษีต่างๆเพื่อการฟื้นฟูความเสียหายได้

2. Bank of Japan เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน

3. Cabinet Office แถลงอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ลดลงร้อยละ 0.5

4. คำสั่งซื้อเครื่องจักรประจำเดือนกรกฎาคม 2554 ลดลงร้อยละ 8.2

5. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกรกฎาคม 2554 ลดลงร้อยละ 42.4

----------------------------------- 1. รัฐบาลยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับแผนการขึ้นอัตราภาษีต่างๆเพื่อการฟื้นฟูความเสียหายได้

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 คณะกรรมการพิจารณาระบบภาษีของรัฐบาลปัจจุบัน ที่มีนาย Jun Azumi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานได้เริ่มการประชุมครั้งแรก โดยมีประเด็นหลักเกี่ยวกับการพิจารณาปรับขึ้นอัตราภาษีต่างๆเพื่อนารายได้ใช้ในงบประมาณเพื่อการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติเมื่อวันที่ 11 เดือนมีนาคม 2554 โดยนาย Yoshihiko Noda นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้คณะกรรมการพิจารณาและนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว แต่เนื่องจากมีคณะกรรมการหลายคนที่ไม่เห็นด้วยต่อการปรับขึ้นอัตราภาษีเนื่องจากเกรงว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงเพิ่มมากขึ้นจากปัจจุบันทำให้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในการประชุมครั้งนี้

ในวันเดียวกันรัฐบาลได้แถลงว่ากำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาขายหุ้นของบริษัท Japan Post ที่รัฐบาลถือหุ้นอยู่ทั้งหมดเพื่อนำรายได้ไปใช้ในการฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ โดยรัฐบาลได้มีการประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณเพื่อการฟื้นฟูความเสียหายภายในระยะเวลา 5 ปีเป็นจานวนเท่ากับ 16.2 ล้านล้านเยน ซึ่งหากรัฐบาลขายหุ้นของบริษัท Japan Post ได้ก็จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 7 ล้านล้านเยน ซึ่งจะทาให้รัฐบาลลดยอดการปรับขึ้นอัตราภาษีได้ แต่อย่างไรก็ตามหากจะมีการขายหุ้นของบริษัท Japan Post รัฐบาลจะต้องทำการแก้ไขกฎหมาย เนื่องจากเดิมได้มีการออกกฎหมายห้ามรัฐบาลขายหุ้นของบริษัท Japan Post ไว้ในสมัยรัฐบาลภายใต้การนาของพรรค LDP

2. Bank of Japan เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2554 ที่ประชุมนโยบายเศรษฐกิจของ Bank of Japan (BOJ) ได้ลงความเห็นว่ายังไม่มีความจาเป็นที่จะต้องใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบัน เนื่องจากภายหลังจากการตัดสินใจเพิ่มจำนวนวงเงินเข้าซื้อพันบัตรรัฐบาลและพันธบัตรเอกชนขึ้นอีก 10 ล้านล้านเยนเป็นจำนวนรวม 50 ล้านล้านเยนเมื่อวันที่ 4 เดือนสิงหาคม 2554 ได้ส่งผลให้ตลาดการเงินของญี่ปุ่นได้เริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ค่าเงินเยนที่แข็งตัวขึ้นอย่างมากนั้นได้เริ่มทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 77 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ตามยังจะคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 ต่อไป สำหรับประมาณการณ์เศรษฐกิจนั้น BOJ กล่าวว่าภาคการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้นได้ฟื้นตัวเกือบหมดแล้วจึงคาดว่าเศรษฐกิจจากนี้ไปน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามมา แต่อย่างไรก็ตามยังจะต้องมีการจับตาและเฝ้าระวังผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศสหรัฐฯ และปัญหาหนี้สินของกลุ่มประเทศ EU ว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างไรต่อจากนี้ไป

3. Cabinet Office แถลงอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ลดลงร้อยละ 0.5

Cabinet Office แถลงอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ที่ไม่รวมผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพประจำไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ลดลงร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับแบบปีต่อปี ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับการประมาณการเดิมว่าที่คาดว่าจะลดลงประมาณร้อยละ 1.3 เนื่องจากการลงทุนในเครื่องจักรและอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.9 จากเดิมมีการประมาณการว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตามการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 จากเดิมที่ได้มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐในการฟื้นฟูความเสียหายจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ

4. คำสั่งซื้อเครื่องจักรประจำเดือนกรกฎาคม 2554 ลดลงร้อยละ 8.2

Cabinet Office ได้เปิดเผยว่าคาสั่งซื้อเครื่องจักรประจำเดือนกรกฎาคม 2554 ลดลงร้อยละ 8.2 เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว ซึ่งการลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องจากคำสั่งซื้อเครื่องจักรจากผู้ประกอบการก่อสร้างอาคารและบ้านลดลงอย่างมาก

5. ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกรกฎาคม 2554 ลดลงร้อยละ 42.4

กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ยอดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนกรกฎาคม 2554 มีมูลค่าเท่ากับ 990.2 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 42.4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเวลา 5 เดือน ส่วนยอดการเกินดุลการค้ามีมูลค่าเท่ากับ 123.3 พันล้านเยน ลดลงร้อยละ 86.3 จากระยะเดียวกับปีก่อนหน้า โดยยอดการส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 อยู่ที่ 5.5304 ล้านล้านเยนเนื่องจากการส่งออกไปยังเอเชีย จีนและสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 2.8 1.0 และ 8.2 ตามลำดับ ในขณะที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 อยู่ที่ 5.4072 ล้านล้านเยนซึ่งการเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 19 เดือนติดต่อกัน เนื่องจากการนาเข้าจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชียเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 และ 8.2 ตามลำดับ

ญี่ปุ่นมียอดการขาดดุลการค้าและบริการมีมูลค่าเท่ากับ 182.9 พันล้านเยน ส่วนยอดการเกินรายได้จากดอกเบี้ยและเงินปันผลจากการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.1 อยู่ที่ 1.2467 ล้านล้านเยน เป็นผลมาจากเงินปันผลของหุ้นต่างประเทศมีจานวนเพิ่มขึ้น รายละเอียดตามตารางที่แนบ

ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศประจำเดือนกรกฎาคม 2554

(Balance of Payments)

หน่วย: พันล้านเยน

               รายการ                                              กรกฎาคม 2554      กรกฎาคม 2553
1. ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account Balance)                             990.2            1,718.7
   (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                         (-42.4)             (29.3)
 1.1 ดุลการค้าและบริการ (Goods & Services Balance)                      -182.9              747.9
    (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                           (-)             (393.7)
   1.1.1 ดุลการค้า (Trade Balance)                                      123.3              897.1
    (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                        (-86.3)            (105.7)
    การส่งออก (Exports)                                              5,530.4            5,658.4
    (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                         (-2.3)             (24.6)
    การนำเข้า (Imports)                                              5,407.2            4,761.2
    (เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า)                                         (13.6)             (16.0)
   1.1.2 ดุลบริการ (Services Balance)                                  -306.2             -149.3
 1.2 รายได้จากดอกเบี้ย/เงินปันผล (Income)                                1,246.7            1,055.8
 1.3 การโอนรายได้ (Current Transfers)                                  -73.6              -85.0
2. ดุลบัญชีทุนและการเงิน (Capital & Financial Account Balance)            -753.1           -2,139.6
 2.1 ดุลบัญชีการเงิน (Financial Account Balance)                         -754.4           -2,084.5
     การลงทุนโดยตรง (Direct Investment)                               -959.4               28.1
     การลงทุนในหลักทรัพย์ (Portfolio Investment)                        3,715.4              359.5
     การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ด้านการเงิน (Financial Derivatives             376.9              224.3
     การลงทุนอื่นๆ (Other investments)                                -3,887.3           -2,696.4
 2.2 ดุลบัญชีทุน (Capital Account Balance)                                  1.3              -55.1
3. ยอดเงินทุนสารองระหว่างประเทศสุทธิ (Changes in Reserve Assets)           -18.2             -103.8
ที่มา กระทรวงการคลังญี่ปุ่น


          สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ณ กรุงโตเกียว

          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ