รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กันยายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 19, 2011 11:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กันยายน 2554

Summary:

1. ไทยชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียน รุกอินเดียเร่งFTAเฟส2 จบกลางปีหน้า

2. พาณิชย์เสนอรัฐบาลพิจารณาแผนเข้าสู่เออีซีปี 58 เป็นวาระแห่งชาติ

3. โอบามาเสนอเก็บภาษีคนรวย (Buffet Tax) ลดปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐ

Highlight:
1. ไทยชิงความได้เปรียบเหนืออาเซียน รุกอินเดียเร่งFTAเฟส2 จบกลางปีหน้า
  • อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้นำผู้แทนไทยเดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้าไทยอินเดีย- (Thailand-India Trade Negotiating Committee) ครั้งที่ 21 และการประชุมคณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยในการเจรจาเปิดเสรีการค้าสินค้ารอบนี้ มีสินค้าที่เข้าสู่กระบวนการเปิดเสรีอีกเกือบ 5,000 รายการ ครอบคลุมสินค้าที่มีการค้าขายระหว่างไทยอินเดียทั้งหมด- โดยไทยกำลังผลักดันให้อินเดียเพิ่มเติมในส่วนของสินค้าที่มีการจัดทำกฎเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules)อีกอย่างน้อยจำนวน 900 รายการ เช่น สิ่งทอ เกษตร เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สินค้าไทยส่งออกไปยังอินเดียได้ง่ายขึ้นและมีข้อได้เปรียบประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอาเซียนที่ได้มีการทำ FTA กับอินเดีย พร้อมหาทางร่วมมือด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ก่อสร้าง ท่องเที่ยว และพัฒนา SMEsขีดเส้นเจรจาจบกลางปี 55เล็งถกปากีสถาน ปูทางเจรจา FTA ในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อินเดียเป็นประเทศผู้ส่งออกสำคัญของไทยอันดับที่ 14 โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.2 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด ซึ่งหากการเจรจา FTA ไทย-อินเดีย เฟส 2 สามารถบรรลุข้อตกลงได้แล้วเสร็จ จะยิ่งสนับสนุนการส่งออกไทยไปยังอินเดียได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกไทยโดยรวมในช่วง 7 เดือนแรกของปี 54 มีมูลค่า 157.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 25.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกที่เติบโตได้ต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยปี 54 ขยายตัวได้ตามที่คาดการณ์ร้อยละ 4.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.0-5.0 (ประมาณการ ณ มิ.ย. 54)
2. พาณิชย์เสนอรัฐบาลพิจารณาแผนเข้าสู่เออีซีปี 58 เป็นวาระแห่งชาติ
  • อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้เสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณาแผนการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้ กรมเจรจาการค้าอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาต่อไป โดยในเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะเออีซีจะมีผลบังคับในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศทั้งในแง่ประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้าและผลกระทบต่อธุรกิจบางสาขาซึ่งต้องเร่งปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 58 มีแนวคิดหลักคือการรวมเศรษฐกิจอาเซียนให้เป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน มีการเปิดเสรีทางการค้า การบริการ และการลงทุน รวมถึงการเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว จะส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย กล่าวคือ การเปิดเสรีทางการค้า การบริการ และการลงทุน จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยที่จะหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจในภูมิภาคมากขึ้น ลดการพึ่งพาจากเศรษฐกิจหลักที่กำลังประสบปัญหา อย่างเช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น เป็นต้น ทั้งนี้ ล่าสุดในเดือน ก.ค. 54 การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน-5 เป็นแหล่งที่มาของการขยายตัวการส่งออกที่สำคัญเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน และในปี 53 ตลาดอาเซียน-5 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.4 ของการส่งออกรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของตลาดอาเซียน นอกจากนี้ การเปิดเสรีในการเคลื่อนย้ายแรงงาน จะก่อให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านแรงงานของไทยเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจัยท้าทายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ ปัจจัยด้านภาษาซึ่งบุคลากรไทยยังเสียเปรียบอยู่มาก รวมถึงภาครัฐยังต้องมีการเตรียมตัวในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจไทยเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
3. โอบามาเสนอเก็บภาษีคนรวย (Buffet Tax) ลดปัญหาหนี้สาธารณะสหรัฐ
  • สำนักช่าวบลูมเบิร์กส รายงานว่า ในวันจันทร์ที่ 19 ก.ย. 54 นี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา จะเสนอเก็บภาษีบัฟเฟตต์ (Buffet Tax) จากคนรวยที่มีรายได้มากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลดการขาดดุลของงบประมาณสหรัฐตามที่เคยเสนอไว้ต่อสภาคองเกรส นอกจากนี้ โอบามายังมีแผนที่จะลดภาษีนิติบุคคลแก่บริษัทเอกชนซึ่งจะสามารถทำให้ประหยัดงบประมาณไปได้อย่างน้อย 1.2 พันล้านในช่วง 10 ปีข้างหน้าควบคู่ไปกับแผนกระตุ้นการจ้างงาน 447 พันล้านตำแหน่งที่ได้เสนอไปแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แผนเสนอการเก็บภาษี Buffet จากคนรวยนั้น ถือเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มรายได้ให้แก่ภาครัฐและลดการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งอาจทำให้ระดับหนี้สาธารณะลดลงได้ อีกทั้งยังก่อให้เกิดความเท่าเทียมกันทางรายได้และทรัพย์สิน โดยรัฐบาลสหรัฐสามารถที่จะนำรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีบัฟเฟตต์ไปช่วยเหลือและสนับสนุนแรงงาน และธุรกิจขนาดเล็ก อันจะส่งผลดีต่อภาคการผลิต การบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจของสหรัฐตลอดจนนำไปสู่การลดลงของอัตราว่างงานสหรัฐ (ล่าสุดเดือน ส.ค. 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 9.1)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ