การหักค่าใช้จ่ายการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย 1.5 เท่า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2011 09:48 —กระทรวงการคลัง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่11ตุลาคม 2554 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้การบริจาคเงินหรือทรัพย์สิน ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2554 ถึง 31 ธันวาคม 2554 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ผู้บริจาคสามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ 1.5 เท่าของจำนวนเงินหรือมูลค่าทรัพย์สินที่บริจาค โดยครอบคลุมผู้รับบริจาคดังนี้

(1) ส่วนราชการ

(2) กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี

(3) องค์การหรือสถานสาธารณกุศล

(4) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ที่เป็นตัวแทนรับเงินหรือทรัพย์สินที่บริจาคเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ทั้งนี้ผู้บริจาคหากเป็นบุคคลธรรมดาเฉพาะที่บริจาคเป็น “เงิน”เท่านั้น ที่สามารถนำไปหักลดหย่อนในการคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับเงินบริจาคอื่นแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อน ส่วนนิติบุคคลสามารถบริจาคได้ทั้ง “เงินและทรัพย์สิน” แต่ทั้งนี้เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์แล้วต้องไม่เกินร้อยละ 2 ของกำไรสุทธิ

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่า“มาตรการดังกล่าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนในทุกภาคส่วน รวมทั้งบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วประเทศ ได้ร่วมกันบริจาคเงินหรือสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยสามารถบริจาคให้แก่ส่วนราชการ กองทุนของส่วนราชการ มูลนิธิ สมาคม รวมทั้งการบริจาคผ่านตัวแทนต่างๆ ได้”

ดร. สาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น ที่ประสงค์จะเป็นตัวแทนรับบริจาคองค์กรดังกล่าวจะต้องมาแจ้งชื่อต่อกรมสรรพากร เพื่อแสดงว่าเป็นผู้ทำหน้าที่ดำเนินการในลักษณะเป็นสื่อกลางในการเป็นตัวแทนรับเงิน ทรัพย์สิน หรือสินค้าดังกล่าว ทั้งนี้ จะต้องแจ้งระหว่างเกิดเหตุอุทกภัยหรือแจ้งภายใน 1 เดือนนับถัดจากวันที่เหตุอุทกภัยนั้นได้สิ้นสุดลงแล้วก็ได้”

สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร

โทร. 0 2272 9479

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 120/2554 11 ตุลาคม 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ