ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกันยายน 2554 และตลอดปีงบประมาณ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 13, 2011 09:47 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิ ประจำเดือนกันยายน 2554 สูงกว่าเป้าหมาย 1.2 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2554 จัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิได้สูงกว่าประมาณการ 2.4 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 14.6

เดือนกันยายน 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 102,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,555 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ ที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4,816 4,311 และ 3,154 ล้านบาท หรือร้อยละ 32.8 80.8 และ 6.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ได้เร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งส่งผลให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 9,644 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,877 ล้านบาท เกิดจากการนำส่งเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2554 ของ บมจ. ปตท. ที่สูงกว่าประมาณการถึง 2,407 ล้านบาท

ปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — กันยายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,891,027 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 241,027 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.9) มีสาเหตุจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้จัดเก็บภาษีจากฐานรายได้และฐานการบริโภคและการนำเข้าได้สูงกว่าเป้าหมาย โดยการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ และการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นสูงกว่าประมาณการถึง 237,227 14,395 และ 14,256 ล้านบาท ตามลำดับ โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการใน 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิตรถยนต์

นายสมชัยฯ สรุปว่า “การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในปีงบประมาณ 2554 ที่สูงกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 14.6 ได้ส่งผลให้ฐานะการคลังของประเทศอยู่ในระดับที่มั่นคง สำหรับในปีงบประมาณ 2555 แม้จะมีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดอุทกภัยในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศก็ตาม กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท”

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร 02-2739020 ต่อ 3500 และ 3562

(เอกสารแนบ)

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกันยายน 2554 และตลอดปีงบประมาณ 2554

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในเดือนกันยายน 2554 มีจำนวน 102,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,555 ล้านบาท ส่งผลให้ตลอดทั้งปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — กันยายน 2554) จัดเก็บรายได้สุทธิเท่ากับ 1,891,027 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 241,027 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.9) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. เดือนกันยายน 2554 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 102,351 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,555 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 9.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ และภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4,816 4,311 และ 3,154 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงถึง 9,644 ล้านบาท เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ ได้เร่งกำลังการผลิตเพื่อส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้า ภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,877 ล้านบาท เกิดจากการนำส่งเงินปันผลสำหรับผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2554 ของ บมจ ปตท. ที่สูงกว่าประมาณการถึง 2,407 ล้านบาท

2. ปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — กันยายน 2554) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,891,027 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 241,027 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 10.9) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีจากฐานรายได้และฐานการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 1,515,666 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 210,066 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.1 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 19.9) โดยสรุปได้ ดังนี้

2.1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล จัดเก็บได้ 574,059 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 143,859 ล้านบาท หรือร้อยละ 33.4 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 26.3) เนื่องจากผลประกอบการของนิติบุคคลในปี 2553 และ ครึ่งแรกของปี 2554 มีอัตราการขยายตัวในระดับที่สูง โดยผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2553 และในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 มีการขยายตัวถึงร้อยละ 30.7 และ 33.1 ตามลำดับ

2.1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 577,632 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 40,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.6 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 15.0) เนื่องจากการบริโภคและการนำเข้ามีการขยายตัวในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจ โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าและการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการร้อยละ 11.6 และ 4.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ ในปีนี้มีรายได้พิเศษจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 7,900 ล้านบาท

2.1.3 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดเก็บได้ 236,339 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,339 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.9 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 13.4) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีจากฐานเงินเดือนและฐานดอกเบี้ยได้สูงกว่าประมาณการ

2.1.4 ภาษีธุรกิจเฉพาะ จัดเก็บได้ 35,614 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,614 ล้านบาท หรือร้อยละ 54.8 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 55.6) เนื่องจากมาตรการลดหย่อนภาษีให้ภาคอสังหาริมทรัพย์สิ้นสุดลงตั้งแต่เดือนมีนาคม 2553 จากที่ได้ประมาณการไว้ว่าจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2553

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้ 399,779 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 12,679 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.3 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 1.5) สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ได้สูงกว่าประมาณการถึง 26,744 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรม ยานยนต์ในประเทศได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติภายหลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการด้านการผลิตสุราและยาสูบกังวลว่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสุราและภาษียาสูบ จึงเร่งผลิตสินค้าและชำระภาษี ส่งผลให้จัดเก็บภาษีดังกล่าวได้สูงกว่าประมาณการถึง 7,524 และ 5,897 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 34,086 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเหลือลิตรละ 0.005 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน — 30 กันยายน 2554

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้ 102,882 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,482 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 5.9) สาเหตุสำคัญมาจากการจัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงกว่าประมาณการ 13,968 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2554 (ตุลาคม 2553 — สิงหาคม 2554) อัตราการขยายตัวของมูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.3 และ 16.6 ตามลำดับ โดยสินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์และส่วนประกอบ (2) เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กลและส่วนประกอบฯ (3) เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบฯ (4) เหล็กและเหล็กกล้า และ (5) พลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 98,795 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,395 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 17.1 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 7.9) โดยเป็นผลจากการนำส่งรายได้ที่สูงกว่าประมาณการของรัฐวิสาหกิจสาขาพลังงาน สาขาขนส่ง และสาธารณูปการ (เช่น บมจ. ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค และการประปานครหลวง) จำนวน 11,653 2,873 และ 2,123 ล้านบาท ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ดี รัฐวิสาหกิจสาขาสื่อสารและสาขาอุตสาหกรรม นำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,495 และ 1,125 ล้านบาท ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 107,256 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,256 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 25.5)

2.5.1 ส่วนราชการอื่น จัดเก็บรายได้ 102,687 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,287 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.9 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 26.7) เนื่องจากรายได้จากธุรกิจสัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้ สูงกว่าประมาณการถึง 6,280 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบสูงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ จากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเท่ากับ 87.5 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล เป็น 100 ดอลลาร์ สรอ.ต่อบาร์เรล นอกจากนี้ มีเงินรับคืนจากโครงการมิยาซาว่าและโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรจำนวน 1,952 และ 445 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี จัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าปีที่แล้วเนื่องจากปีที่แล้วมีรายได้พิเศษจากการยึดทรัพย์ฯ อดีตนายกรัฐมนตรีจำนวน 49,016 ล้านบาท

2.5.2 กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้ 4,569 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 969 ล้านบาท หรือร้อยละ 26.9 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 18.1)

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 229,694 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 16,894 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.9 โดยเป็นการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 188,334 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,334 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 และการคืนภาษีอื่นๆ จำนวน 41,360 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,560 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.4

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ รวมทั้งสิ้น 76,232 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,732 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 16.0) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าที่ประมาณการ

3. รายได้รัฐบาลปีงบประมาณ 2555

ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2555 ตั้งไว้จำนวน 1,980,000 ล้านบาท สูงกว่าจัดเก็บจริงปีงบประมาณ 2554 จำนวน 88,973 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ การประมาณการรายได้ดังกล่าวได้รวมผลกระทบจากการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 23 และการขยายระยะเวลาการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาทอีก 3 เดือน (ตุลาคม — ธันวาคม 2554) โดยกระทรวง การคลังมีความมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.98 ล้านล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี มีปัจจัยเสี่ยงจากการเกิดอุทกภัยในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศ ในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งจะส่งผลทางลบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กระทรวงการคลังจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 121/2554 12 ตุลาคม 54--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ