รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2011 10:36 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2554

Summary:

1. กสิกรหั่นเป้าจีดีพี ปี 54 โตร้อยละ 3.3 จากเดิมร้อยละ 3.8

2. ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 40 ทั่วประเทศ

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.54 ในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

Highlight:
1. กสิกรหั่นเป้า จีดีพี ปี 54 โตร้อยละ 3.3 จากเดิมร้อยละ 3.8
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินภาวะเศรษฐกิจจากผลกระทบเหตุการณ์อุทกภัย โดยคาดว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งนี้ จะส่งผลกระทบให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 54 ลดลงจากคาดการณ์เดิม เนื่องจากความเสียหายที่ลุกลามไปถึงภาคอุตสาหกรรมอย่างหนัก โดยในกรณีพื้นฐาน เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 3.3 หรืออยู่ในกรอบร้อยละ 2.9-3.6 ต่ำลงจากเดิมที่คาดว่าจีดีพีในกรณีพื้นฐานอาจขยายตัวร้อยละ 3.8 และมีกรอบคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 - 4.2
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต โดยเฉพาะ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ โดยในเบื้องต้น สศค.ได้ประเมินความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ โดยที่ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 15.7 หมื่นล้านบาท และจะส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยในปี 54 หดตัวลงร้อยละ 1.5 คาดว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจไทยทั้งปี 54 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยเป็นการปรับลดลงจากเดือน ก .ย .54 ที่ สศค. เคยประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้ร้อยละ 4.0 (ช่วงคาดการณ์ ร้อยละ 3.8 - 4.3)
2. ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 40 ทั่วประเทศ
  • ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ว่าที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 ทุกจังหวัดทั่วประเทศ จากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน แต่เนื่องจากขณะนี้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมขึ้นในจังหวัดต่างๆ จึงให้เลื่อนการปรับขึ้นค่าจ้างตามมติดังกล่าว จากเดิมจะให้มีผลในวันที่ 1 ม.ค.55 ไปเป็นในวันที่ 1 เม.ย.55 และให้คงอัตราค่าจ้างในจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทต่อวันไว้ไปจนถึงปี 58 ส่วนจังหวัดอื่นๆ ที่ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ถึง 300 บาทต่อวัน ก็จะดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 300 บาท ภายในปี 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นแรงงานขั้นต่ำนั้น จะส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชน เนื่องจากจะทำให้รายได้ที่แท้จริงของผู้บริโภคสูงขึ้น และจะส่งผลโดยตรงทำให้อุปสงค์ภายในประเทศขยายตัวจากอำนาจในการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค (Purchasing Power) ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ภาคธุรกิจเร่งหาวิธีการในการปรับตัวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจและบริหารต้นทุนธุรกิจให้คุ้มค่าและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในระดับที่สูงขึ้นได้ โดยเฉพาะการเพิ่มทักษะของทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เช่น การให้ความสำคัญกับการจ้างแรงงานและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สามารถมีความรู้และประสบการณ์มากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพแรงงาน รวมทั้งการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้กับแรงงาน
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.54 ในสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2
  • ผลผลิตอุตสาหกรรมโดยรวมในสหรัฐช่วง ก.ย. 54 ขยายตัวขึ้นร้อยละ 0.2 โดยยอดการผลิตจากโรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 การผลิตแร่ (รวมขุดเจาะน้ำมัน) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และอัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) เพิ่มขึ้นสู่ระดับร้อยละ 77.4 โดยมีปัจจัยหลักจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์และคอมพิวเตอร์ หลังจากที่การผลิตหยุดชะงักลงในช่วงเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะ General Motors Co. (GM) และ Alcoa Inc. (AA) (บริษัทผลิตรถยนต์และผลิตอลูมิเนียมขนาดใหญ่ของสหรัฐ ตามลำดับ) มีผลประกอบการที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ภายหลังจากญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจาก Tsunami และยอดคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ JPMorgan Funds คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐในไตรมาส 3 จะกระเตื้องขึ้นร้อยละ 2 ถึง 3 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขการฟื้นตัวภาคการผลิตของสหรัฐดังกล่าว ไม่อาจบ่งชี้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 ของGDP สหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐประสบความยากลำบากในการใช้แรงส่งภาคการคลังและภาคการเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจจากเงื่อนไขข้อจำกัดเพดานหนี้สาธารณะและการปรับลดความน่าเชื่อถือจาก AAA เหลือ AA+ ทั้งนี้ ประเทศไทยเองจำเป็นต้องพิจารณาในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกมากขึ้น ถึงแม้ว่าไทยได้กระจายตลาดส่งออกไปยัง Emerging Markets ทดแทนสหรัฐเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม Emerging Markets ดังกล่าว ยังต้องพึ่งพาตลาดสหรัฐในสัดส่วนที่สูง โดยสหรัฐนำเข้าสินค้าค้าจากภูมิภาคเอเชียร้อยละ 32 ของการนำเข้าทั้งหมดของสหรัฐ ขณะเดียวกันภาคการผลิตไทยเองกำลังประสบปัญหาจากอุทกภัย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ