รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 21, 2011 11:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ตุลาคม 2554

Summary:

1. ธนาคารโลกชี้น้ำท่วมไทยทำเศรษฐกิจไตรมาส 4 ติดลบ

2. Fitch Rating เชื่อเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในไทยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงจำกัด

3. คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันเดือน ก.ย. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:
1. ธนาคารโลกชี้น้ำท่วมไทยทำเศรษฐกิจไตรมาส 4 ติดลบ
  • นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายของเศรษฐกิจไทยจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีนี้เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายอยู่ในระดับติดลบ เนื่องจากความเสียหายได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้สูงกว่าระดับร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายแก่ประชาชนหลายแสนครัวเรือน และส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยเป็นอย่างมาก ทั้งในส่วนของภาคเกษตรกรรมและภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ คาดว่าสถานการณ์ความเปราะบางของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ทั้งจากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจช้ากว่าคาดการณ์ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของจีดีพี ส่งผลให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 54 จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.0 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.8-4.3 คาดเมื่อ ก.ย. 54) ทั้งนี้ เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมดังกล่าวยังไม่สิ้นสุด จึงยังไม่สามารถระบุความเสียหายที่ชัดเจนได้ โดยจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินมูลค่าความเสียที่แท้จริงในระยะต่อไป
2. Fitch Rating เชื่อเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรงในไทยจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงจำกัด
  • Fitch Rating คาดน้ำท่วมกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 54 ในระดับต่ำ โดยให้เหตุผลว่าจากการที่บริษัทที่ Fitch จัดอันดับ มีส่วนน้อยที่ตั้งอยู่ในเขตเสี่ยงภัย จึงคาดว่าภาคอุตสาหกรรมของบริษัทดังกล่าว จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระดับต่ำ สำหรับภาคสถาบันการเงิน Fitch คาดว่าความเสียหายต่อสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ระดับปานกลาง โดยยอดสินเชื่อคงค้างจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1 ล้านล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 13.4 ของปริมาณสินเชื่อทั้งระบบ ในส่วนของสถาบันทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ มองว่ามีระดับเงินทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ที่ผู้ประสบภัย ขณะที่ ธปท.มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ผู้ประสบภัยและการผ่อนผันการชำระหนี้ชั่วคราวเพื่อไม่ให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ลุกลามเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นนอกและชั้นใน รวมถึงเขตนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สำคัญซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม ทั้งนี้ ล่าสุดนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ได้รับผลกระทบไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจทำให้ Fitch กลับมาทบทวนความเชื่อมั่นที่มีต่อไทยอีกครั้ง
3. คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันเดือน ก.ย. 54 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันในเดือน ก.ย. 54 ขยายตัวร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์และชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 52 โดยคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกดังกล่าวเป็นดัชนีชี้นำอุปสงค์จากนอกประเทศในส่วนของสินค้า Hi-Technology รวมถึงเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนภาคการส่งออกของไต้หวันในช่วง 2-3 เดือนถัดไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชะลอลงของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกดังกล่าวสอดคล้องกับการชะลอลงของเศรษฐกิจคคู่ค้าสำคัญของไต้หวัน โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งยังคงประสบกับปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าอาจจะชะลอลงในไตรมาสที่ 4 ของปี 54 ผนวกกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ สะท้อนภาคการส่งออกที่คาดว่าจะชะลอลงชัดเจนในช่วงที่เหลือของปี 54 อย่างไรก็ตามจากเครื่องชี้อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือน ส.ค. 54 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำ ลังแรงงานรวม และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ส.ค. 54 ขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนส่งผลให้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 6.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 5.6— 6.6 คาดเมื่อเดือน ก.ย. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ