รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 21, 2011 12:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2554

Summary:

1. ค่ายยานยนต์ญี่ปุ่นเริ่มกลับมาผลิตในไทยอีกครั้ง

2. แบงชาติชี้ค่าบาทส่อผันผวน รับเงินประกันทะลักหลังน้ำลด

3. เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 3/54 ขยายตัวร้อยละ 5.8

Highlight:
1. ค่ายยานยนต์ญี่ปุ่นเริ่มกลับมาผลิตในไทยอีกครั้ง
  • ค่ายยานยนต์ญี่ปุ่น เริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตในไทยอีกครั้ง หลังถูกกระทบจากน้ำท่วม แต่ยังต้องประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนจากไทย สำนักข่าวเอ็นเอชเค รายงานว่า ค่ายยานยนต์ทั้ง 8 แห่งของญี่ปุ่นได้เริ่มทยอยกลับมาผลิตในไทยอีกครั้ง หลังได้รับผลกระทบหนักจากน้ำท่วม โดยโตโยต้าและอิซูซุ ประกาศจะกลับมาเปิดโรงงานอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ย.) หลังค่ายรถอีก 4 แห่ง เริ่มฟื้นการผลิตไปแล้วก่อนหน้านี้ ขณะที่บริษัทมิตซูบิชิ ฟูโซ่ ทรัค แอนด์ บัส คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้ตามปกติภายในสัปดาห์หน้า ส่วนฮอนด้า น่าจะยังต้องระงับการผลิตต่อไปอีกระยะ เนื่องจากโรงงานยังคงจมอยู่ใต้น้ำ อย่างไรก็ดี แม้ค่ายรถญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้แล้ว แต่ก็ยังต้องประสบปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ซึ่งไทยถือเป็นฐานการผลิตหลักทั้งนี้คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าการผลิตของทุกบริษัทจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากภาวะอุทกภัย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดอยุธยา ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์หลายแห่งได้รับความเสียหายอย่างมาก ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการส่งออก โดยในปี 53 การส่งออกในหมวดยานพาหนะคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 11.3 เป็นอันดับที่ 2 รองจากการส่งออกในหมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ จากการประเมินล่าสุดในวันที่ 6 พ.ย. 54 คาดว่ามูลค่าภาคการส่งออกหมวดยานพาหนะจะได้รับความเสียหายทั้งสิ้น 21,434.3 ล้านบาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจากภาวะอุทกภัยจะเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น หากสถานการณ์คลี่คลาย เศรษฐกิจไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง
2. แบงชาติชี้ค่าบาทส่อผันผวน รับเงินประกันทะลักหลังน้ำลด
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า หลังจากสถานการณ์น้ำท่วม คาดว่าจะมีเม็ดเงินจากบริษัทประกันภัยต่างชาติที่จะไหลเข้ามาเพื่อชดเชยค่าสินไหมจากการเอาประกันภัยของโรงงานต่างๆ ในวงเงินจำนวนมาก และมีผลให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นรวดเร็วบ้างในระยะสั้น และในช่วงจากนั้น ภาคอุตสาหกรรมจะนำเงินออกไปซื้อเครื่องจักรใหม่มาทดแทนเครื่องจักรที่จมน้ำ หรือได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งเงินส่วนนั้นก็จะไหลออกไปนอกประเทศอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเชื่อว่าทิศทางเงินทุนจะมีทั้ง 2 ทิศทาง คือมีทั้งไหลเข้า และไหลออก และอาจจะมีความ

ผันผวน แต่ ธปท.ก็มีหน้าที่ดูแลความผันผวนให้กับระบบอยู่แล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการอะไร เพราะนักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจประเทศไทย

  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางผันผวน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังมีความกังวลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของยุโรป ความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ในเดือน พ.ย. 54 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดตราสารทุนคิดเป็นมูลค่า 7.8 พันล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนในสินทรัพย์ นอกจากนี้ สถานการณ์น้ำท่วมใน

หลายพื้นที่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งหลังน้ำลดผู้ประกอบการจะนำเข้าเครื่องจักรเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหาย โดยการนำเข้าเครื่องจักร และการเคลื่อนย้ายเงินทุนดังกล่าว จะส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ค่าเงินบาททั้งปี 54 จะอยู่ที่ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับปี 55 จะอยู่ที่ 30.0 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 54)

3. เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 3/54 ขยายตัวร้อยละ 5.8
  • ธนาคารกลางมาเลเซียเปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/54 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/54 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 ซึ่งได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการฟื้นตัวในภาคการผลิตหลังประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทานจากภัยพิบัติสึนามิที่ญี่ปุ่น โดยการส่งออกและการลงทุนขยายตัวร้อยละ 11.4 และ 6.1 ตามลำดับ สอดคล้องกับภาคการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5.1 เช่นเดียวกันโดยภาคการเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.2 เนื่องจากผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบและยางธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ภาคบริการขยายตัว ร้อยละ 7.0 และภาคก่อสร้างเติบโตร้อยละ 3.0 สำหรับเสถียรภาพภายในประเทศนั้น อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 3/54 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราชักยังได้คาดการณ์ว่า ในปี 2554 เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0-5.5 ปรับลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 6.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจมาเลเซียจะส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการส่งออก ซึ่งมาเลเซียนั้นถือเป็นคู่ค้าอันดับที่ 9 ของไทยหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.6 ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังมาเลเซียได้แก่ 1. ยางพารา (สัดส่วนร้อยละ 14.2 ของมูลค่าส่งออกรวมไทยไปยังมาเลเซีย) 2. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (สัดส่วนร้อยละ 14.1) 3. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (สัดส่วนร้อยละ 13.6) 4.น้ำมันสำเร็จรูป (สัดส่วนร้อยละ 10.4) 5. แผงวงจรไฟฟ้า (สัดส่วนร้อยละ 4.7) ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจมาเลเซียในปี 2554 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ