รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 1, 2011 14:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2554

Summary:

1. กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

2. ธ.ก.ส.ร่วมเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเกษตรกร

3. อัตราว่างงานของญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 4.5%

Highlight:
1. กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในอัตรา 0.25% มาอยู่ที่ 3.25% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นความเชื่อมั่น หลังจากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่มีผลกระทบอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ กนง.พร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินอีก หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับคาดการณ์ GDP ในปี 54 ลงเหลือ1.8% จากเดิม 2.6%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นไปตามที่สศค. ได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง (Real sector) ทั้งด้านอุปทานจากภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และด้านอุปสงค์จากภาคการส่งออก ภาคการบริโภคภาคเอกชน และภาคการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ นับจากต้นปี 54 กนง.มีการประชุมทั้งหมด 8 ครั้ง และมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องจำนวน 5 ครั้ง โดยในการประชุมรอบสุดท้ายในปีนี้กนง.มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ระดับ 3.25 เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมจะส่งผลให้ GDP ในปี 54 จะลดลงอยู่ในช่วงร้อยละ 1.7 - 2.0
2. ธ.ก.ส.ร่วมเครือเจริญโภคภัณฑ์ช่วยเกษตรกร
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ทำให้นาข้าวเสียหาย 10 ล้านไร่ ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวหายไปจากระบบประมาณ 5-8 ล้านตัน และมีเกษตรกรได้รับผลกระทบประมาณ 7 แสนครัวเรือน ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมลงนามกับบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ เมล็ดพันธุ์ ที่จะเข้ามาช่วยให้ความรู้ด้านการผลิตและการตลาดแก่เกษตรกรลูกค้าพร้อมจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ผสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมเป็นอย่างสูงโดยในปี 53 ภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนร้อยละ 8.9 ของ GDP ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3 ของปี 54 หดตัวร้อยละ -0.9 หดตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.7 ทำให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 7.2 อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์อุทกภัยได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรมเป็นบริเวณกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูกข้าว ซึ่งข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่เสียหายประมาณ 6 ล้านตัน หรือประมาณ 22.2 พันล้านบาท ส่งผลให้คาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 2554/2555 จะลดลงประมาณ 19 ล้านตัน ทั้งนี้ จากความร่วมมือระหว่างธ.ก.ส. กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ด้านการเพาะปลูกมากขึ้น และสามารถเพิ่มผลผลิตได้เร็วขึ้นจากผลกระทบน้ำท่วม อย่างไรก็ดี เมื่อเหตุการณ์น้ำท่วมได้คลี่คลายลงเกษตรกรจะเริ่มปลูกข้าวนาปรังซึ่งคาดว่าจะให้ผลผลิตประมาณ 8-9 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวในปี 2554/2555 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 27 ล้านตัน
3. อัตราว่างงานของญี่ปุ่นเดือน ต.ค. 54 เพิ่มขึ้น 4.5%
  • กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า อัตราว่างงานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4.5% ในเดือนต.ค. 54 จากระดับ 4.1% ในเดือนก.ย. 54 นับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกหลังจากที่ปรับตัวลดลงติดต่อกัน 3 เดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์การว่างงานภายในประเทศยังคงรุนแรง ทั้งนี้ ตัวเลขผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 250,000 คน หรือ 9.4% รวมเป็น 2.92 ล้านคน ในขณะที่ประชากรนอกกลุ่มคนทำงานลดลง 220,000 หรือ 0.5% สู่ระดับ 44.96 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ที่มีงานทำอยู่ที่ 62.46 ล้านคน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวเลขในเดือนก.ย.
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นยังมีสัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบาง โดยข้อมูลล่าสุด GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 ปี 54 ขยายตัวร้อยละ 0.0 (ไม่ขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.0 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว

(qoq_SA) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักมาจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 และ 0.1 ตามลำดับ ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 54 อยู่ที่ระดับ 50.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 49.3 บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนต.ค. 54 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -3.7 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 17.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ -0.2 ทั้งนี้ สศค.

คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 54 จะหดตัวร้อยละ -0.6 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 54)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ