Macro Morning Focus ประจำวันที่ 20 ธันวาคม 2554
Summary:
1. กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์คาด จีดีพี ปี 55 โตร้อยละ 4
2. ปตท.ยันจำเป็นต้องขยับ NGV
3. รัฐบาลสหรัฐอาจงดเงินสมทบแก่ IMF เพื่อช่วยเหลือกู้วิกฤตยูโรโซน
Highlight:
1. กรุงเทพโพลล์เผยนักเศรษฐศาสตร์คาด จีดีพี ปี 55 โตร้อยละ 4
- ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ คาดเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวได้ในระดับร้อยละ 4 ขณะที่การเคลื่อนไหวของเงินบาท จะอยู่ในกรอบ 30.10-31.00 หรือมีค่าเฉลี่ยที่ 30.62 บาท/ดอลลาร์ และการส่งออกจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 13.2 โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ เศรษฐกิจโลกในภาพรวม รองลงมาคือ ปัญหาการเมืองการชุมนุมประท้วง เสถียรภาพของรัฐบาล หนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐและกลุ่มยูโรโซน และปัญหาภัยธรรมชาติ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 คาดว่ายังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี จากมาตรการเพิ่มรายได้ และลดค่าครองชีพของประชาชน อาทิ โครงการรับจำนำข้าว นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และนโยบายขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ขณะที่ภาคการส่งออกคาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพทางการเมืองและภัยธรรมชาติ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 5.5 ในขณะที่การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 13.7 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 12.7 — 14.7 (คาดการณ์ ณ ก.ย.54) ทั้งนี้ สศค.จะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือน ธ.ค. 54
2. ปตท.ยันจำเป็นต้องขยับ NGV
- ปตท. เปิดเผยว่าจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) จากปัจจุบันที่จำหน่ายอยู่ที่ ก.ก.ละ 8.50 บาท เพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพราะตามข้อเท็จจริงแค่ต้นทุนเนื้อก๊าซที่ยังไม่รวมค่าขนส่ง และค่าบริหารจัดการก็อยู่ที่ 9.90 บาท/ก.ก. ขณะเดียวกันการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีก็ทยอยปรับเดือนละ 50 สต./ก.ก.จนครบ 6 บาท/ก.ก.สิ้นสุดเดือน ธ.ค.55 ทั้งนี้ต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีปรับสูงขึ้นทุกๆ ปีโดยในปี 53 อยู่ที่ 8.39 บาท/ก.ก. และปี 54 อยู่ที่ 9.90 บาท/ก.ก. ทำให้ที่ผ่านมาปตท.มีภาระขาดทุนสะสมจากการจำหน่ายราคาเอ็นจีวีต่ำกว่าต้นทุนจนถึงสิ้นปีนี้รวม 4 หมื่นล้านบาท
- สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับราคาขายก๊าซ NGV จะทำให้ราคาสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้นแต่จำเป็นต้องหามาตรการเพื่อมาบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มรถโดยสารแท๊กซี่เนื่องจากเป็นต้นทุนที่สำคัญในการบริการ หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชากรกลุ่มนี้ ทั้งนี้ในเบื้องต้นกระทรวงพลังงานเตรียมออกโครงการบัตรเครดิตพลังงานที่มีทั้งวงเงินเครดิตและส่วนลดสำหรับราคาก๊าซฯ 50 สต. - 2 บาท/ก.ก. รวมคิดเป็นมูลค่า 9,000 บาท เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อในปี 55 ลงได้บ้างโดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสารสาธารณะซึ่งมีสัดส่วนในตะกร้าสินค้าร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 ชะลอลงจากปี 54
3. รัฐบาลสหรัฐอาจงดเงินสมทบแก่ IMF เพื่อช่วยเหลือกู้วิกฤตยูโรโซน
- รมว.คลังเยอรมนี กล่าวว่า “รัฐบาลสหรัฐไม่สามารถให้เงินกู้ทวิภาคีแก่ IMF โดยที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากรัฐสภา” อย่างไรก็ดี บรรดาผู้นำยูโรโซนเห็นพ้องกันว่าจะจัดสรรเงินกู้สูงสุด 1.5 แสนล้านยูโร ให้กับ IMF เพื่อช่วยยูโรโซนให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตไปได้ ขณะที่คาดว่า ประเทศนอกกลุ่มยูโรจะให้เงินกู้อีก 5 หมื่นล้านยูโรโดยขณะนี้ IMF กำลังเจรจากับประเทศสมาชิกเกี่ยวกับการจัดหาเงินกู้เพิ่มเติมให้กับ IM
- สศค.วิเคราะห์ว่ารัฐบาลสหรัฐเองจำเป็นต้องมีนโยบายเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น หลังจากมีสัญญาณเตือนภัยหลายตัวทั้งในภาคการบริโภค การลงทุนและภาคต่างประเทศ อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคช่วง ก.ค.-ส.ค.54 ที่อยู่ในระดับเฉลี่ยเพียงร้อยละ 51.9 มูลค่าส่งออกเดือน ต.ค. 54 ที่หดตัวต่อเนื่องส่งผลให้การค้าขาดดุลถึง 43.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ที่อยู่ระดับเฉลี่ยเพียง 51.0 (ลดลงจากไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ระดับ 56.4) นอกจากนี้ สหรัฐเองอาจจะมีภาวะเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้น หากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของยุโรป ไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววัน เนื่องจากเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาค มีความเชื่อมโยงกันอย่างมาก โดยสหรัฐส่งออกไปยุโรปในสัดส่วนประมาณร้อยละ 20 อีกทั้งภาคการเงินการธนาคาร และการจ้างงานระหว่างสองทวีปยังเกี่ยวพันกันสูงมาก (พนักงานชาวยุโรปได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทอเมริกันจำนวนมาก และในทางกลับกัน พนักงานชาวอเมริกัน ก็ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th