รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 22, 2011 11:43 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 ธันวาคม 2554

Summary:

1. “กิตติรัตน์” ไม่เห็นด้วย กนง.ลดดอกเบีย้ นโยบายแค่ 0.25%

2. เอกชนจี้รัฐช่วยท่องเที่ยว

3. ญี่ปุ่นระบุยอดส่งออกพ.ย.หดตัวร้อยละ 4.5

Highlight:
1. “กิตติรัตน์” ไม่เห็นด้วย กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายแค่ 0.25%
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รอง รมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานสัมมนา “Reinven Thailand ซ่อมสร้าง วาระบูรณะประเทศไทย” ว่าไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ย นโยบายลงเพียงร้อยละ 0.25 ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่จำเป็นต้องลดอัตราดอกเบี้ยลงมากกว่านี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นับจากต้นปี 54 กนง.มีการประชุมทั้งสิ้น 8 ครั้ง และมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 5 ครั้ง จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและแม้ว่าในการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ กนง.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 อยู่ที่ร้อยละ 3.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาผลกระทบจากภาวะอุทกภัยแต่ภาคธนาคารพาณิชย์กลับยังไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากลง เนื่องจากต้องการความชัดเจนและความต่อเนื่องของนโยบาย ขณะที่สภาพคล่องในระบบการเงินยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 2.05 ล้านล้านบาท (ณ ก.ย.54) ซึ่ง สศค.วิเคราะห์ว่าทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 55 จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ปัจจัยภายใน ได้แก่ (1) การฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้รวดเร็วหรือไม่ (2) แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจปรับเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัวและปัจจัยภายนอก ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยง ทั้งนี้สศค. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายปี 55 จะอยู่ในช่วงร้อยละ 2.75-3.75 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนพ.ย. 54) โดย สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจอีกครั้งในเดือนธ.ค. 54
2. เอกชนจี้รัฐช่วยท่องเที่ยว
  • สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(สทท.) เปิดเผยว่า สทท.เห็นว่าหลังน้ำลดรัฐบาลควรเร่งตื่นตัวในการฟื้นฟูและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยโดยเร็ว เช่น การออกมาตราการต่างๆ มากระตุ้น เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครัง้ หลังจากซบเซาในช่วงน้ำท่วม โดยให้เร่งกระตุ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ เพราะ สทท.เชื่อว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆในภาคการผลิต และเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีที่สุด
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลล่าสุดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ย.54 มีจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -17.9 นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือน พ.ค. 53 ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทยส่งผลต่อจิตวิทยาของการเดินทางของนักท่องเที่ยวลดลง โดยการหดตัวสูงสุดมากจากญี่ปุ่น (share6.2) โดยหดตัวสูงสุดร้อยละ -37.6 และจีน (share7.0) หดตัวร้อยละ -27.9 อย่างไรตามในช่วง 11 เดือนแรกปี 54 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศทั้งสิ้น 17.1 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค.คาดว่าทั้งปี 54 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 19.1 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.1
3. ญี่ปุ่นระบุยอดส่งออกพ.ย.54 หดตัวร้อยละ 4.5
  • กระทรวงการคลังญี่ปุ่น เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นในวันนี้ว่ายอดส่งออกเดือนพ.ย.54 หดตัวลงร้อยละ 4.5 จากปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 5.1977 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 2 ขณะที่ยอดการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 สู่ระดับ 5.8824 ล้านล้านเยน ส่งผลให้ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลการค้ามูลค่าทั้งสิ้น 6.847 แสนล้านเยนในเดือนพ.ย.54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ญี่ปุ่นมียอดขาดดุลทางการค้า 2 เดือนติดต่อกัน ขณะที่การค้าระหว่างประเทศและกลุ่มประเทศยุโรปหดตัวถึงร้อยละ 84.2 เหลือเพียงมูลค่า 345.4 พันล้านดอลลาร์สรอ. จากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะ ในขณะที่ประเทศไทยมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นในเดือน พ.ย. 3,087.84 ล้าน ดอลลาร์สรอ. ลดลงจาก ต.ค. 54 จำนวน -741.04 ล้านดอลลาร์สรอ. ทั้งประเภทสินค้าเชื้อเพลิงและสินค้าทุน ต่างมีมูลค่านำเข้าที่ลดลงทั้งคู่โดยสาเหตุของการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นลดลง เป็นผลมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าหลังจากผ่านเหตุการณ์ดังกล่าวภาวะนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นจะดีขึ้นและปรับสู่การขยายตัวอีกครั้ง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ