Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ธันวาคม 2554
1. สั่งสภาพัฒน์ฯ — คลัง — ธปท. ศึกษาคืนหนี้กองทุน
2. กรุงเทพโพลล์ ชี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติ 87.6 % ไม่ยี่หระน้ำท่วม
3. คาดตลาดทั่วโลกรับผลกระทบวิกฤตหนี้
- นายบัณฑูร สุภัควณิช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานเกี่ยวกับแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีกว่า 1.14 ล้านล้านบาท โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปศึกษาในรายละเอียดเกี่ยวกับแนวทางการคืนหนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานะหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันมีความมั่นคง สะท้อนจากยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค.54 มีจำนวน 4.336.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.03 ของGDP ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP โดยจำแนกเป็น (1) หนี้ของรัฐบาล 3,092.9 พันล้านบาท ได้แก่ หนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1,911.8 พันล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ 1,181.1 พันล้านบาท (2) หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,058.9 พันล้านบาท (3) หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 154.5 พันล้านบาท และ(4) หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 30.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การพิจารณาโอนภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ธปท.รับผิดชอบ จะส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างลดลงเหลือ 3,155.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 29.86 ของ GDP และทำให้รัฐบาลไม่ต้องมีภาระงบประมาณเพื่อใช้หนี้ให้แก่กองทุนฟื้นฟูฯ รวมทั้งมีงบเหลือสำหรับนำไปใช้ในโครงการลงทุนต่างๆ เพิ่มเติมอีกปีละ 6-7 หมื่นล้านบาท และยังสามารถกู้เงินเพื่อนำมาใช้ลงทุนเพิ่มเติมได้อีก ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 42-54 รัฐบาลได้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสำหรับกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 656.7 พันล้านบาท และในปีงบประมาณ 55 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณการชำระหนี้ในประเทศจำนวน 68.4 พันล้านบาท สำหรับดอกเบี้ยจ่ายของกองทุนฟื้นฟูฯ อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาถึงผลกระทบ ข้อดีและข้อจำกัดของการแปลงหนี้ FIDF ดังกล่าวต่อไป
- ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต่อการมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ พบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร้อยละ 87.6 เห็นว่าสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมประเทศไทยส่งผลน้อยถึงน้อยที่สุดต่อการตัดสินใจมาท่องเที่ยว โดยสิ่งที่ดึงดูดให้เดินทางมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ มากที่สุดอันดับแรกคืออาหารและแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวที่นึกถึงเป็นที่แรกคะ วัดพระแก้ว อย่างไรก็ตามเรื่องที่นักท่องเที่ยวเป็นกังวลมากที่สุดเมื่อมาท่องเที่ยว เรื่องการจราจรติดขัด ถูกโก่งราคาสินค้าและค่าโดยสารเช่น รถแท็กซี่และรถตุ๊กๆ เมื่อถามถึงความตั้งใจในการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ในประเทศไทยพบว่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะอยู่เฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในประเทศไทย โดยสถานที่ที่ตั้งใจจะไปเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่อันดับแรกคือ เกาะสมุย
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาสร้างความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ได้ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ย.54 หดตัวร้อยละ - 17.9 ด้วยจำนวน 1.21 ล้านคน ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทาง
การเมืองในเดือนพ.ค. 53ประกอบกับ ข้อมูลล่าสุด 26 วันแรกใน เดือน ธ.ค. 54 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยผ่านท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (มีสัดส่วนคิดเป็นประมาณร้อยละ 70 จากด่านทั้งหมด) ทั้งสิ้น 9.2 แสนคน หดตัวร้อยละ -5.4 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 11 เดือนแรกปี 54 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศแล้วทั้งสิ้น 17.1 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าทั้งปี 54 จะมีจำวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 18.8 ล้านคนขยายตัวร้อยละ 18.2 สะท้อนภาคการท่องเที่ยวต่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย
- รายงานการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 30 พ.ย.54 เผยว่า คณะกรรมการกำหนดนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่นเห็นว่า แรงกดดันที่มีต่อตลาดการเงินทั่วโลกอันเนื่องมาจากวิกฤตหนี้ยุโรปนั้น อาจจะยืดเยื้อยาวนาน และมีแนวโน้มต่อแรงกดดันในตลาดการเงิน เมื่อพิจารณาจากความยากลำบากในการแก้ปัญหาหนี้ยุโรป และปฏิเสธไม่ได้ว่า มีความเป็นไปได้ที่ระบบการเงินของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบรุนแรงหากสถานการณ์ย่ำแย่ลงไปมากกว่านี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยุโรปได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกเดือน พ.ย. 54 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 มาอยุ่ที่ร้อยละ -4.5 ต่อปี จากอุปสงค์ภายนอกที่ชะลอตัวและค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 11.0 ต่อปี ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 684.73 พันล้านเยน (8.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)ขณะที่ค่าเงินเยนอยู่ที่ 77.96 (ณ วันที่ 27 ธ.ค. 54) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.59 นับจากต้นปี 54 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Overnight Call) ในเดือนพ.ย. 54 อยู่ที่ระดับร้อยละ 0 - 0.1 อย่างไรก็ดี ล่าสุดมีรายงานว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีการปล่อยสินเชื่อ 3 ปี มูลค่า 4.89 แสนล้านยูโร หรือ 6.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซน ด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1 ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวร้อยละ -0.6 ในปี 54 และจะขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 55 (คาดการณ์ เดือนก.ย. 54 และจะปรับคาดการณ์อีกในเดือนธ.ค. 54)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th