รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 29, 2011 09:41 —กระทรวงการคลัง

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2554

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างชัดเจน

จากผลของภาวะวิกฤตอุทกภัย

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีการหดตัวอย่างชัดเจน เนื่องจากผลของวิกฤตอุทกภัยที่กระทบต่อการผลิตโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันได้ส่งผลให้การใช้จ่ายภายในประเทศและการส่งออกหดตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยเฉพาะการใช้จ่ายภายในประเทศ สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวร้อยละ -1.0 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งหดตัวลงสูงถึงร้อยละ -62.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -38.8 จากโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิตในช่วงเหตุอุทกภัยและชิ้นส่วนในเขตอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยต้องหยุดการผลิต สำหรับการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัวร้อยละ -71.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -41.8 ขณะที่การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสินค้าส่งออกที่หดตัวลงมากมาจากสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -26.7 ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรยังคงขยายตัวต่อเนื่อง”

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า “เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ที่หดตัวถึงร้อยละ -48.6 ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 ขณะที่เครื่องชี้ด้านการผลิตภาคเกษตรกรรมหดตัวเช่นกันที่ร้อยละ -7.2 โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศพบว่ามีการหดตัวเช่นกัน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวร้อยละ -17.9 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553”

ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณการหดตัวลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุการณ์อุทกภัยทำให้ภาคการผลิตโดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเกิดภาวะชะงักงัน ทำให้ สศค. ทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 1.1”

เอกสารแนบ

รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2554

“เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยหดตัวลงอย่างชัดเจนและหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากผลของภาวะวิกฤตอุทกภัย”

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีสัญญาณหดตัวลงจากผลกระทบของอุทกภัย สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ หดตัวลงร้อยละ -1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.3 จากปัจจัยอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 ในขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนหดตัวลง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายน 2554 ที่หดตัวร้อยละ -62.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นับจากที่ขยายตัวติดต่อกัน 3 เดือน ภายหลังเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น ผลจากโรงงานผลิตรถยนต์ค่ายต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิตในช่วงเหตุอุทกภัย เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวที่ร้อยละ -11.0 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ระดับ 61.0 จุด ปรับลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และถือเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 122 เดือนนับตั้งแต่กันยายน 2544 สาเหตุหลักมาจาก 1) ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและทรัพย์สินของประชาชนและทางราชการ 2) ความกังวลต่อค่าครองชีพหลังจากราคาสินค้ายังทรงตัวในระดับสูงจากเหตุการณ์น้ำท่วม และ 3) แนวโน้มการชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกจากปัญหาหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2554 ส่งสัญญาณหดตัวลงเช่นกัน สะท้อนจาก ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวสูงที่ร้อยละ -71.5 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -41.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายน 2552 แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่ามีการนำเข้าสินค้ารายการพิเศษ ได้แก่ เครื่องบิน และแท่นขุดเจาะลอยน้ำ โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหักรายการพิเศษมีการหดตัวร้อยละ -7.1 หดตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวลงเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ -18.6 หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -17.0 สำหรับยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์หดตัวร้อยละ -0.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวได้ร้อยละ 11.7 ผลมาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องหยุดชะงัก ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับตัวสูงขึ้น

3. การส่งออกชะลอตัวลงมากจากผลกระทบของภาวะวิกฤตอุทกภัยที่กระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรม โดยการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีมูลค่า 15.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -12.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.3 โดยเป็นการหดตัวลงของการส่งออก เป็นผลจากปริมาณการส่งออกที่หดตัวร้อยละ -14.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวชะลอลงอยู่ในระดับที่ร้อยละ 2.5 ทั้งนี้ หากพิจารณาสินค้าส่งออกรายประเภท พบว่า สินค้าอุตสาหกรรมมีการส่งออกหดตัวมากสุด โดยหดตัวร้อยละ -26.7 สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ -47.4 ยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบหดตัวร้อยละ -54.7 เครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวร้อยละ -21.9 อัญมณีและเครื่องประดับหดตัวร้อยละ -10.8 เป็นต้น ขณะที่สินค้าส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงขยายตัวร้อยละ 11.3 สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางพาราขยายตัวร้อยละ 24.1 ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัวร้อยละ 20.2 สินค้าในกลุ่มอาหารขยายตัวร้อยละ 11.3 เป็นต้น สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญ พบว่า ตลาดส่งออกหลักหดตัวร้อยละ -16.9 ได้แก่ ตลาดสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ยังคงหดตัวลงร้อยละ -28.8 -13.9 และ -8.7 ตามลำดับ ขณะที่ตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงหดตัวร้อยละ -8.4 ได้แก่ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน หดตัวร้อยละ -9.7 -43.6 -11.3 และ -11.0 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณแผ่วลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ 16.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -2.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 โดยเป็นผลจากการหดตัวลงของปริมาณและราคาการนำเข้าสินค้าที่ยังคงขยายตัวร้อยละ -10.1 และ 8.5 ตามลำดับ ทั้งนี้ ผลจากมูลค่าการส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2554 ขาดดุล -1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

4. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลชะลอตัวลง และต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลหดตัวจากปีที่แล้ว โดยผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 เท่ากับ 137.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 923 ล้านบาท เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ โดยภาษีที่ได้รับผลกระทบที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 2.9 พันล้านบาท ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการจำนวน 4.3 พันล้านบาท จากโรงงานผลิตรถยนต์สำคัญต่างๆ หยุดการผลิต เนื่องจากขาดชิ้นส่วนในการผลิต ประกอบกับปัญหาทางด้านการขนส่งในช่วงที่เกิดเหตุการณ์อุทกภัย สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพฤศจิกายน 2554 มีจำนวน 150.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -32.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งออกเป็น 1) รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันจำนวน 131.9 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -36.4 โดยรายจ่ายปีปัจจุบันแบ่งออกเป็นรายจ่ายประจำจำนวน 127.2 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -35.2 และรายจ่ายลงทุนจำนวน 4.7 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -56.7 และ 2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 18.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ประกอบด้วยรายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 13.5 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคมจำนวน 7.7 พันล้านบาท งบชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจำนวน 7.5 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาจำนวน 4.5 พันล้านบาท

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2554 สะท้อนว่า ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้การผลิตในภาคเกษตรและภาคบริการหดตัวลงมากจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงค่อนข้างแรง โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -48.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -30.1 โดยเป็นการหดตัวในทุกดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม ยกเว้นดัชนีผลผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ยังคงขยายตัวได้ร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2554 ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 6 โดยอยู่ที่ระดับ 87.5 ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 29 เดือน สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร (เบื้องต้น) ในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวร้อยละ -7.2 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวจากผลผลิตข้าวนาปีเป็นสำคัญ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2554 หดตัวที่ร้อยละ -1.5 ซึ่งนับเป็นการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี นับจากตุลาคมปี 2552 ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงหดตัวอยู่ที่ร้อยละ -13.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 เช่นเดียวกับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2554 พบว่านักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 1.21 ล้านคน หดตัวร้อยละ -17.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 18 เดือน หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม 2553 ผลจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้ประเทศจำนวน 42 ประเทศ ประกาศเตือนนักท่องเที่ยวในการเดินทางเข้าไทย และส่งผลต่อจิตวิทยาของการเดินทางของนักท่องเที่ยว

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.2 เทียบกับเดือนตุลาคมสูงขึ้นร้อยละ 0.21 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม โดยสินค้าอาหารสดและสินค้าอุปโภคที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผลกระทบภาวะน้ำท่วม ได้แก่ ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ปลาและสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักสด เครื่องประกอบอาหาร เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 2.9 และเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมสูงขึ้นร้อยละ 0.03 สำหรับอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนตุลาคม 2554 (เบื้องต้น) อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานจำนวน 2.2 แสนคน ลดลงจากเดือนกันยายนที่มีผู้ว่างงาน 3.0 แสนคน โดยแบ่งเป็นการว่างงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม บริการ และผู้ไม่เคยทำงานมาก่อน จำนวน 3.4 7.7 5.8 และ 5.0 หมื่นคน ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 41.03 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2554 อยู่ในระดับสูงที่ 178.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ