มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 09:33 —กระทรวงการคลัง

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2555 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือ และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยดำเนินการออกกฎกระทรวง ฉบับ.... (พ.ศ.....) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ดังนี้

1. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน

ให้หักค่าลดหย่อนภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคาร หรือที่อยู่ในเขตอาคาร หรือห้องชุดในอาคารชุด และทรัพย์สินที่มีการประกอบติดตั้งติดกับตัวอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด รั้ว และประตูรั้ว แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) ทรัพย์สินที่ได้รับการซ่อมแซมนั้นต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554 และอยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย

(2) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น หรือเป็นผู้เช่าทรัพย์สินนั้น หรือเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการและใช้ประโยชน์อื่น และต้องเป็น

ผู้จ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินนั้น ในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และถ้าผู้มีเงินได้นั้นจ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินเกินกว่าหนึ่งแห่ง ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท

(3) ทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองจากเหตุอุทกภัย ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะ

ค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สินในส่วนที่ได้จ่ายเกินกว่าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย แต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท

(4) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมทรัพย์สิน ในปีภาษี พ.ศ. 2554 หรือในปีภาษี พ.ศ. 2555 ถ้าใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษี พ.ศ. 2554 และปีภาษี พ.ศ. 2555 ทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับสิทธิยกเว้นรวมกันไม่เกินหนึ่งแสนบาท

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2. มาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์

ให้หักค่าลดหย่อนภาษีโดยการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซ่อมแซมรถยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

(1) รถยนต์ที่ได้รับการซ่อมแซมนั้นต้องเป็นรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากการถูก

น้ำท่วมรถยนต์เนื่องจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2554

(2) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์หรือเป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์ที่ได้รับการซ่อมแซม และต้องเป็นผู้ที่อยู่ในท้องที่ที่ทางราชการประกาศให้เป็นพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยโดยมีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดที่ผู้มีเงินได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือเป็นผู้เช่า หรือเป็นผู้ใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดเป็นที่อยู่อาศัยหรือใช้ประกอบกิจการ อยู่ในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยนั้น

(3) ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ โดยได้จ่ายในระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 และถ้าผู้มีเงินได้นั้นจ่ายค่าซ่อมแซมรวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์เกินกว่าหนึ่งคัน ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินสามหมื่นบาท

(4) รถยนต์ที่ได้ทำประกันภัยคุ้มครองจากเหตุอุทกภัย ให้ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเฉพาะ

ค่าซ่อมแซมรถยนต์รวมทั้งค่าวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมรถยนต์ ในส่วนที่เกินกว่าค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทซึ่งประกอบธุรกิจประกันภัย แต่ไม่เกินสามหมื่นบาท

(5) ผู้มีเงินได้ต้องใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ในปีที่ได้จ่ายค่าซ่อมแซมรถยนต์ในภาษี

พ.ศ. 2554 หรือในปีภาษี พ.ศ. 2555 ถ้าใช้สิทธิยกเว้นในปีภาษี พ.ศ. 2554 และปีภาษี พ.ศ. 2555

ทั้งสองปีภาษี ให้ได้รับสิทธิยกเว้นรวมกันไม่เกินสามหมื่นบาท

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า “เหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา นับเป็นภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายนับแสนล้านบาท โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรได้ออกมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยไปแล้วในหลายมาตรการ อาทิ มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้มีการบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และมาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อย่างไรก็ดีผลกระทบด้านภัยพิบัติอุทกภัยได้คลี่คลายลง ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เริ่มเข้ามาปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและรถยนต์ อันมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทรวงการคลังจึงเห็นควรให้มีการออกมาตรการภาษีเพิ่มเติมให้ครบวงจรมากขึ้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้”

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการภาษีเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากการที่ประชาชนต้องปรับปรุงซ่อมแซมบ้านและรถยนต์ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต มาตรการภาษีดังกล่าว คาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ภาษีอากรประมาณ 4,120 ล้านบาท ประกอบด้วยภาษีสูญเสียจากมาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้าน จำนวน 4,000 ล้านบาท และมาตรการให้หักค่าลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถยนต์จำนวน 120 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ประสบภัยพิบัติได้ฟื้นฟู เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และกลับมาดำเนินชีวิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติแล้ว จะส่งผลต่อการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในระยะยาว”

สำนักวิชาการแผนภาษี กรมสรรพากร

โทร. 0 2272 9479

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2/2555 4 มกราคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ