รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 16, 2012 11:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 มกราคม 2555

Summary:

1. อุตฯ ท่องเที่ยว ผวาข่าวก่อการร้ายในไทยกระทบธุรกิจ

2. ครม.สัญจรเห็นชอบงบฯเกือบ 4 แสนลบ.ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่

3. S&P ประกาศหั่นเครดิต 9 ประเทศในยูโรโซน รวมฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน

Highlight:
1. อุตฯ ท่องเที่ยว ผวาข่าวก่อการร้ายในไทยกระทบธุรกิจ
  • สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ เครียดเตือนภัยก่อการร้ายในไทยกระทบการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติยกเลิกเดินทางกระทันหัน เสนอรัฐเร่งหามาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตามสถานที่ท่องเที่ยวย้ำความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะกระทบมหาศาลตัวเลขนักท่องเที่ยวกว่า 20 ล้านคนปีนี้ตกฮวบแน่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศเตือนภัยก่อการร้ายในไทยได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทย ทั้งภาคการท่องเที่ยว และการลงทุน ทั้งนี้ ภายหลังการประกาศเตือนภัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อจิตวิทยานักลงทุนอย่างมาก ทำให้นักลงทุนขายสินทรัพย์เสี่ยง ส่งผลให้การซื้อขายหลักทรัพย์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีราคาหุ้นไทยปิดในแดนลบที่ 1,044.81 จุด ลดลง 7.42 จุด มูลค่าการซื้อขาย 23,837.44 ล้านบาท โดยนักลงทุนสถาบันขายสุทธิที่ 371.83 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิที่ 431.06 ล้านบาท และบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 199.22 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิที่ 1,002.11 ล้านบาท
2. ครม.สัญจรเห็นชอบงบฯเกือบ 4 แสนลบ.ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่
  • รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาคเหนือ ทั้งรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ- เชียงใหม่ ระบบขนส่งสาธารณะรวมถึงระบบป้องกันน้ำท่วมภาคเหนือ รวม 128 โครงการ เงินลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาท ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนองบผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองและคณะกรรมการ กยอ.เพื่อกลั่นกรองงบให้เหมาะสมเนื่องจากโครงการลงทุนทั้งประเทศระยะยาว ต้องใช้เงินลงทุนถึง 2 ล้านล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานผ่านการลงทุนภาครัฐนั้น เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้น และระยะยาว กล่าวคือ ในระยะสั้น การลงทุนภาครัฐสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเป็นผลมาจากการจ้างงาน และยอดจำหน่ายวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ส่วนในระยะยาว โครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงสามารถสร้างโอกาสให้ธุรกิจใหม่ นับเป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทั้งนี้ จากผลกระทบของเหตุการณ์ภาวะอุทกภัยในปลายปี 54 ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับความเสียหายอย่างมาก การลงทุนภาครัฐจะเป็นหนึ่งในนโยบายที่สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพอีกครั้ง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดย สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.0 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 54)
3. S&P ประกาศหั่นเครดิต 9 ประเทศในยูโรโซน รวมฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน
  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส (S&P) เปิดเผยว่า S&P ได้ปรับลดอันดับเครดิตระยะยาวของฝรั่งเศสลง 1 ขั้น จาก AAA ซึ่งเป็นระดับสูงสุด มาอยู่ที่ AA+โดยมีแนวโน้มเชิงลบ และออสเตรียถูกปรับลดเครดิตลง 1 ขั้นเช่นกัน จาก AAA สู่ AA+ นอกจากนี้ S&P ยังได้ปรับลดอันดับเครดิตระยะยาวของไซปรัส, อิตาลี, โปรตุเกส และสเปนลง 2 ขั้น และของมอลตา, สโลวาเกีย และสโลเวเนียลง 1 ขั้น โดยในขณะนี้ อันดับเครดิตของสเปนและอิตาลีอยู่ที่ A และ BBB+ ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน S&P ยืนยันอันดับเครดิต AAA ของเบลเยียม, เอสโตเนีย, ฟินแลนด์, เยอรมนี, ไอร์แลนด์, ลักเซมเบิร์กและเนเธอร์แลนด์ โดยระบุว่า ประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เมื่อพิจารณาจากสถานะภายนอกที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและหนี้สินที่น้อยกว่าในภาครัฐและภาคเอกชน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ S&P ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของ 9 ประเทศในยูโรโซนสะท้อนปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่ยังไม่คลี่คลายและรุนแรงมากขึ้น ข้อตกลงของผู้นำยุโรปยังไม่เพียงพอและชัดเจนที่จะจัดการวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคได้ ซึ่งจะส่งผลลบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจจริงของยุโรปในที่สุด โดย สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะหดตัวร้อยละ -0.8 ในปี 2555 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 54) นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตหนี้ในยุโรปยังมีแนวโน้มจะลุกลามไปยังตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกตลอดจนเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางอัตราแลกเปลี่ยน และการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยไปยัง 9 ประเทศในสหภาพยุโรปที่ถูกปรับลดอันดับลงนั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.68 ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมดในปี 2553 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.05 ของจีดีพีในปี 2553 สินค้าส่งออกสำคัญไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ยางพารา

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ