รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มกราคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 10:54 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มกราคม 2555

Summary:

1. ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.อยู่ที่ 93.7 กังวล เศรษฐกิจโลก-ราคาพลังงาน

2. ยอดส่งออกรถยนต์ ธ.ค. 54 ลดลงร้อยละ 50.66

3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.5

Highlight:
1. ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค.อยู่ที่ 93.7 กังวล เศรษฐกิจโลก-ราคาพลังงาน
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย(Thai Industries Sentiment Index:TISI) ในเดือน ธ.ค.54 อยู่ที่ระดับ 93.7 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 87.5 ในเดือนพ.ย.54 ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ได้คลี่คลาย และเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค.54 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลมาจากปัญหาอุกภัยที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้ภาคอุสาหกรรมกลับมาผลิตได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ประกอบกับเส้นทางคมนาคมกลับมาใช้ได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมยังคงต้องหยุดการผลิต เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เนื่องจากเครื่องจักรและปัจจัยการผลิตอื่นๆ ได้รับความเสียหาย รวมทั้งความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอยู่ในระดับที่ไม่ดี สะท้อนจากการที่ผู้ประกอบการยังไม่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นฟู เพื่อให้กลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง4
2. ยอดส่งออกรถยนต์ ธ.ค. 54 ลดลงร้อยละ 50.66
  • ส.อ.ท. เปิดเผยถึงยอดการส่งออกรถยนต์เดือน ธ.ค.54 ว่า ส่งออกได้ลดลงร้อยละ 50.66 จาก ธ.ค.53 โดยมีมูลค่าการส่งออก 17,048.54 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 42.93 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่อยู่ที่ 32,767.42 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.95 จาก ธ.ค. 53 ขณะที่การส่งออกรถยนต์ทั้งปี 54 สามารถส่งออกรถยนต์ได้ลดลงร้อยละ 17.89 จากปี 53 มีมูลค่าการส่งออก 343,383.92 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 15.14 จากปี 53
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปีที่ 54 ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์บางบริษัทตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย ทำให้ค่ายผลิตยานยนต์อื่นที่พึ่งพาชิ้นส่วนจากโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ได้รับผลกระทบต้องหยุดกำลังการผลิตลง อย่างไรก็ดีหลังจากวิกฤตอุทกภัยคลี่คลายลงบริษัทผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเริ่มกลับมาผลิตได้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศในเดือน ธ.ค.54 กลับมาขยายตัวร้อยละ109.35 จากเดือน พ.ย.54 ที่หดตัวร้อยละ 41.40 จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สศค. คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 54 จะขยายตัวร้อยละ 9.3 และในปี 55 คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 8.9 (ช่วงคาดการณ์ 7.9-9.9 คาดการณ์ ณ เดือนธ.ค.54)
3. ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.5
  • ธนาคารโลกปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 55 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.4 ในปี 55 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.2 และปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่มีรายได้สูงลงสู่ร้อยละ 1.4 จากเดิมคาดการณ์อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้ยุโรป และการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจประเทศใหญ่ๆหลายแห่งในกลุ่มตลาดเกิดใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงมีความเสี่ยง ทั้งจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวแต่ส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปที่ขณะนี้ได้ลุกลามไปยังภาคสถาบันการเงิน ที่เริ่มขาดสภาพคล่องจนธนาคารกลางยุโรปต้องอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเป็นเงินเกือบ 5 แสนล้านยูโร ในช่วงปลายเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้แนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้ในยุโรปยังคงไม่มีความชัดเจนและสถานการณ์ยังคงย่ำแย่เมื่อ S&P ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือระยะยาวของ 9 ประเทศในเขตยูโรโซนจาก 17 ประเทศลง 1 ระดับ (ฝรั่งเศส ออสเตรีย มอลต้า สโลวาเนีย สโลวาเกีย) และ 2 ระดับ (อิตาลี โปรตุเกส สเปน ไซปรัส) เมื่อวันที 13 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนทั่วโลก ทั้งนี้ หากปัญหายังคงลุกลามต่อไปอีก ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะผ่านหลายช่องทาง ทั้งในส่วนของค่าเงินที่มีความผันผวนมากขึ้น สภาพคล่องในระบบ การเรียกเงินคืนกลับไปยุโรป โดยเฉพาะเอเชียที่มีการกู้ยืมเงินจากกยุโรปรวมกันมากกว่า 1 ล้านล้านยูโร และอาจส่งผลทางลบต่อไทยผ่านช่องทางการค้ากับยุโรปและความผันผวนทางการเงินที่รุนแรงขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ