รายงานการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 11:03 —กระทรวงการคลัง

ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 (ก.ค.-ก.ย.54) ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 2,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลการชำระเงินขาดดุล 1,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ1 และพบว่า ดุลการชำระเงินขาดดุลสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส สำหรับสาเหตุสำคัญของการที่ดุลการชำระเงินขาดดุล เนื่องจากมีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น และการชำระคืนหนี้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ในส่วนของผู้ส่งออกไทย

คาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2554 (ต.ค.-ธ.ค.54 ) ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขาดดุลสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส โดยสาเหตุสำคัญมาจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐ ส่งผลให้การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิจากต่างประเทศลดลง ส่วนการลงทุนโดยตรงสุทธิอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัย นอกจากนั้น การลงทุนอื่น ๆ มีการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์อย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 3 เพื่อปรับฐานะจากการที่ผู้ส่งออกไทยลดการป้ องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้มีเงินทุนไหลออกจำนวนมาก และส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2554

1. สถานการณ์ดุลบัญชีเงินทุนไตรมาส 3 ปี 2554 (ก.ค.-ก.ย.54)

ดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 2,024 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลการชำระเงินขาดดุล 1,689 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสาเหตุสำคัญหลักของการขาดดุลบัญชีเงินทุนเกิดจากการไหลออกของเงินทุนในระดับสูงของภาคการลงทุนอื่น ๆ เนื่องจากการปรับบัญชีของธนาคารพาณิชย์ไทยในส่วนของการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นของผู้ส่งออกไทยและการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การลงทุนโดยตรงสุทธิมีเงินทุนไหลออก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้า 1,113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิมีเงินทุนไหลเข้า 2,384 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 51.8 สำหรับการลงทุนอื่น ๆ สุทธิมีเงินทุนไหลออก 3,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้า 1,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

1.1 สถานการณ์การลงทุนโดยตรง ไตรมาส 3 ปี 2554

การลงทุนโดยตรงสุทธิในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีเงินทุนไหลออกมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีมูลค่า 2,874 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 609 จากช่วงเวลาเดียวกัน ของปีก่อนหน้า สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 2,373 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 56

1.2 สถานการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ไตรมาส 3 ปี 2554

การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 2,384 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 51.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้ามูลค่าถึง 4,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศมีเงินทุนไหลเข้า (การขายหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทย) มูลค่า 676 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศมีเงินทุนไหลเข้ามูลค่า 1,708 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64

การลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกมูลค่า 660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จากต่างประเทศนั้น มีเงินทุนไหลออก 2,369 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการขายสุทธิ 20,674 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการขายสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าสาเหตุที่มีการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกสูงขึ้น ภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรปถดถอย ทำให้นักลงทุนมีการลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

ขณะเดียวกันการลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศจากข้อมูลของ ธปท. มีการไหลออกของเงินทุน 19,886 ล้านบาท

1.3 สถานการณ์การลงทุนอื่น ๆ ไตรมาส 3 ปี 2554

การลงทุนอื่น ๆ สุทธิไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีเงินทุนไหลออก 3,765 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลเข้า 1,896 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทั้งนี้เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่า การลงทุนอื่น ๆ ของชาวต่างประเทศในประเทศไทยนั้นได้ลดลง โดยมีมูลค่า 1,526 ล้านดอลลาร์สหรัฐในขณะที่การลงทุนอื่น ๆ ของชาวไทยในต่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมากอยู่ที่ระดับ 5,291 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์เพื่อปรับฐานะจากการที่ผู้ส่งออกไทยลดการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

2. แนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 (ต.ค.-ธ.ค.54)

คาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ดุลการชำระเงินขาดดุล 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเงินทุนขาดดุล 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลเข้า 4,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และขาดดุลเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3 ปี 2554 ร้อยละ 48 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจาก1) การลงทุนโดยตรงสุทธิอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาอุทกภัย 2) การลงทุนในหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง เนื่องจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น จากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและ 3) การไหลออกของเงินทุนอื่น ๆ เพื่อการชำระคืนหนี้เงินกู้ระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์เป็นการปรับฐานะของผู้ส่งออกไทยลดการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

การลงทุนโดยตรงสุทธิมีเงินทุนไหลเข้า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลออก 2,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิมีเงินทุนไหลเข้า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้าถึง 3,122 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือลดลงถึงร้อยละ 84 สำหรับการลงทุนอื่น ๆ สุทธิมีเงินทุนไหลออกสูงถึง 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกัน ของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้า 3,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีการไหลเข้าของเงินทุนมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีการไหลออกของเงินทุน 2,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่มูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะอุทกภัยทำให้มีการชะลอการลงทุน

คาดว่าการลงทุนในตราสารทุนของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 มีมูลค่าเงินทุนไหลเข้า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐและการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติมีมูลค่า 975 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการลงทุนอื่น ๆ คาดว่ามีการไหลออกประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ