Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 มกราคม 2555
1. เจ้าสัวซีพี ยุขึ้นค่าแรง 500 บาทปรับเงินเดือนขั้นต้น 2.3 หมื่นบาท
2. ส.อ.ท.แนะรัฐควรทยอยปรับราคาพลังงาน หวั่นดันราคาสินค้าพุ่งรับต้นทุนแพง
3. นักวิเคราะห์คาดGDP ไตรมาส 4 ปี 54 สหรัฐขยายตัวร้อยละ 3
- นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) กล่าวสนับสนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนเริ่มต้นของข้าราชการจากนโยบายเดิมที่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 500 บาท/วัน ขณะที่เงินเดือนข้าราชการขั้นต่ำเดิมที่รัฐบาลกำหนดปรับให้เป็น 15,000 บาท/เดือน ควรจะปรับเพิ่มให้เป็น 22,000-23,000 บาท/เดือน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างราคาน้ำมันและค่าครองชีพเนื่องจาก หากย้อนกลับไปเมื่อ 47 ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันพบว่า ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น 25 เท่า แต่ค่าครองชีพนั้นปรับขึ้นมาเพียง 15 เท่าเท่านั้น
- สศค.วิเคราะห์ว่า มาตรการค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน และการปรับเพิ่มเงินเดือนราชการขั้นต่ำเป็น 15,000 บาท/เดือน เป็นนโยบายที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ อีกทั้ง ยังช่วยปรับค่าครองชีพให้แก่ผู้มีรายได้น้อยให้เกิดความสมดุลกับการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวจะต้องไม่ก่อให้เกิดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการจนทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งนี้ สศค.คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 55 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.0 ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 — 5.5 (ประมาณการ ณเดือน ธ.ค.55) โดยจะได้รับแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ
- รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เรียกร้องให้รัฐบาลทยอยเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซล หรือต่ออายุมาตรการยกเว้นการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5.03 บาท/ลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ม.ค.55 ออกไปก่อน เนื่องจากกังวลว่าหากรัฐบาลปล่อยราคาน้ำมันลอยตัวจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลสูงขึ้นอีก 7-8 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ลิตรละ 39 บาท นอกจากนี้ ยังได้กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรทยอยจัดเก็บภาษีสรรพาสามิตน้ำมันดีเซลครั้งละ 1-2 บาท/ลิตร เพื่อให้เอกชนปรับตัวได้ เพราะหากรัฐบาลดำเนินนโยบายต่างๆ พร้อมกันในคราวเดียว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการการยกเว้นการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในรัฐบาลชุดปัจจุบัน เริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 54 โดยกำหนดให้มีอายุ 6 เดือน ซึ่งจะหมดอายุในสิ้นเดือนมกราคมนี้ โดยหากไม่มีการต่อมาตรการและทำการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเดิมทันที จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผ่านต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันที่มีสัดส่วนการใช้สูงที่สุด (ประมาณร้อยละ 70 ของการบริโภคน้ำมันทุกประเภท) การปรับราคาจึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งภาคการขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การปรับราคาของน้ำมันดีเซลจะส่งผลกระทบต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อผ่านหมวดยานพาหนะและเชื้อเพลิงซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 13.56 ของตะกร้าสินค้า ทั้งนี้ ในปี 55 อัตราเงินเฟ้อจะได้รับผลกระทบหลักจากนโยบายด้านพลังงานที่จะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้น (เช่น NGV LPG) โดยสศค.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 55 ที่ร้อยละ 3.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0-4.0 (ประมาณการ ณ เดือนธันวาคม 54)
- นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่แท้จริง (ขั้นต้น) ประจำไตรมาส 4/2554 ซึ่งกระทรวงแรงงานสหรัฐจะเปิดเผยในวันศุกร์นี้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 ต่อปี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2554 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 เนื่องจากชาวอเมริกันมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นและภาคเอกชนปรับเพิ่มสต็อกสินค้าคงคลัง
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาส 4 ปี 54 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการใช้จ่ายในระดับสูงของชาวสหรัฐถึง 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวร้อยละ 6.6 ต่อปีในช่วงวัน Black Friday ประกอบกับอัตราการว่างงานในเดือน ธ.ค. 54 ที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.5 และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นถึง 2 แสนตำแหน่ง ทำให้ชาวสหรัฐฯมีรายได้และบริโภคมากขึ้น นอกจากนี้ จากตัวเลขสต๊อกสินค้าคงคลังภาคธุรกิจสหรัฐในเดือน พ.ย. 54 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ0.3 สู่ระดับ 1.55 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคเอกชนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 55 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 54 และปี 55 จะเติบโตที่ร้อยละ 1.7 และ 1.9 ตามลำดับ (ประมาณการ ณ ธ.ค. 54) อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในปี 55 ได้แก่ 1) นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของสหรัฐ และ 2) ปัจจัยทางการเมือง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th