รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 1, 2012 11:44 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2555

Summary:

1. คลัง-แบงก์ชาติยังไร้สรุปเก็บค่าต๋งแบงค์ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

2. การส่งออกไทยไปจีนปี 55 มีแนวโน้มชะลอตัว

3. การประชุมดาวอส จบลงแต่วิกฤติศก.โลกยังไม่จบ

Highlight:
1. คลัง-แบงก์ชาติยังไร้สรุปเก็บค่าต๋งแบงค์ใช้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวเกี่ยวกับการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมนำส่งเพื่อชำระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากธนาคารพาณิชย์ ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะเรียกเก็บในอัตราที่ไม่กระทบต่อธนาคาร ทั้งผู้ฝากเงิน กู้เงิน และผู้ถือหุ้นธนาคาร เนื่องจากจะเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับที่ธนาคารนำส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ปีละร้อยละ 0.4 อยู่แล้ว ทั้งนี้ธนาคารยังต้องนำส่งเงินไปที่ สคฝ. บางส่วน แต่ทางรัฐบาลจะลดเงินในส่วนที่นำส่วนนี้ลงแต่ยังไม่เปิดเผยว่าเมื่อรวม 2 ส่วนนี้แล้วจะสูงกว่าร้อยละ 0.4 โดยแนวทางที่จะสรุปออกมานั้น ต้องไม่เป็นภาระกับธนาคารพาณิชย์จนส่งผลกระทบกับผู้ฝากเงินมากนัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) มีจำนวน 1.14 ล้านล้านบาท โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ยไปแล้วมากถึง 6.7 แสนล้านบาท รัฐบาลจึงได้มีแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้ FIDF อย่างยั่งยืน โดยการปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซึ่งพิจารณาแหล่งเงินที่จะใช้ในการชำระหนี้ 3 แหล่ง ได้แก่ 1) ร้อยละ 90 จากกำไรสุทธิของ ธปท. 2) ผลประโยชน์จากบัญชีเงินตรา 3) สถาบันคุ้มครองเงินฝากเก็บค่าธรรมเนียมจากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.4 ของฐานเงินฝาก อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้มีการประเมินว่า แนวโน้มที่เป็นไปได้มากที่สุดที่น่าจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมอยู่ที่ร้อยละ 0.5-0.6 (จากปัจจุบันที่เท่ากับร้อยละ 0.4) ซึ่งจะทำให้ FIDF มีรายได้เพิ่มเติมจากการปรับเพิ่มดังกล่าวในระดับ 7,200-14,500 ล้านบาท แต่ยังขาดรายได้อยู่อีกระดับ 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ในการชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 6.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และประเมินว่าคาดว่าหากมีการจัดเก็บเพิ่มเป็นอัตราร้อยละ 0.5-0.6 จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ร้อยละ 4.4-8.8 ทั้งนี้ ล่าสุดผู้ว่าการธปท.คาดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาหนี้ FIDF ดังกล่าวโดยคาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 25 ปี
2. การส่งออกไทยไปจีนปี 55 มีแนวโน้มชะลอตัว
  • ผู้จัดการฝ่ายวิจัยการลงทุนภูมิภาค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยไปจีนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์อุทกภัยครัง้ ใหญ่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. 54 นอกเหนือจากปัจจัยการชะลอตัวของตลาดจีนเองในภาวะที่เศรษฐกิจโลกแผ่วลงชัดเจนมากขึน้ ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 54 ส่วนแนวโน้มสถานการณ์การส่งออกของไทยไปจีนในปี 55 อาจเติบโตในอัตราที่อ่อนแรงลงจากปี 54
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการส่งออกในปี 54 ที่ร้อยละ 12.0 ของมูลค่าการส่งออกไปทั่วโลก โดยการส่งออกไปจีนในเดือนธ.ค. 54 หดตัวร้อยละ -2.8 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -9.7 ทำให้ไตรมาส 4 ของปี 54 ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 62.9 เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงต้นไตรมาส 4 ที่กระทบต่อภาคการผลิตที่หดตัวลงแรงสะท้อนจากผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพ.ย. 54 ที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -47.2 และปรับตัวดีขึ้นในเดือนธ.ค. 54 ที่หดตัวร้อยละ -25.8 สำหรับแนวโน้มการส่งออกของไทยไปจีนในปี 55 คาดว่าจะชะลอลงจากภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงตามทิศทางของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าคาดว่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 14.1 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 13.1 — 15.1) และเศรษฐกิจจีนในปี 55 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 8.4 คาดการณ์ ณ เดือนธ.ค. 54
3. การประชุมดาวอส จบลงแต่วิกฤติศก.โลกยังไม่จบ
  • การประชุมสภาเศรษฐกิจโลก หรือเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม (WEF) ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ปิดฉาก โดยไร้พันธสัญญาและถูกประเด็นวิกฤตหนียุ้โรปกลบความสนใจ ซึ่งประเด็นที่สำคัญที่มีการพูดคือภาคการเงิน รวมถึงเผชิญความท้าทายทั้งจากรายได้ที่ลดลง ราคาหุ้นลดลงการลดจำนวนพนักงานและการชดเชย รวมถึงมีความเชื่อมั่นลดลงติดต่อกันเป็ นปี ที่ 2 ทั้งนี้นับเป็นปีแรกที่เชิญกลุ่ม "โกลบอล เชพเพอร์ส " หรือผู้นำรุ่นใหม่อายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มคนที่จะกลายเป็นผู้นำโลกในอีกหลายสิบปีข้างหน้าเข้าร่วม
  • อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) กล่าวเตือนในเวทีประชุมว่า วิกฤติหนี้ยุโรปปัญหาที่มีผลกระทบที่รุนแรง และกระจายตัวในวงกว้างทั่วโลก ทั้งยังไม่มีประเทศใดมีภูมิต้านทานวิกฤติครั้งนี้ขณะที่การแก้ปัญหาของแต่ละประเทศจะทำให้เกิดผลกระทบต่อแต่ละประเทศในรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ IMF ประเมินว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 55 จะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.3 จากร้อยละ 4 ที่คาดการณ์ไว้เมื่อ ก.ย. 54
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรป ได้ลุกลามไปสู่ภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ซึ่งมีผลกระทบต่อทั่วโลกรวมถึงไทย ซึ่งการปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกของ IMF เป็นการปรับลดตามปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปเป็ นสำคัญ ซึ่งชัดเจนว่าเศรษฐกิจยุโรปที่ IMF คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -0.5 ในปี 55 และจะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 0.8 ในปี 56 นำไปสู่การปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน 5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) ในปี 55 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 8.2 และร้อยละ 5.2 ตามลำดับ ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดต่อไป คือ (1) ความเข้มข้นของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของรัฐบาลทั่วโลก โดยเฉพาะจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ผ่านทั้งภาคการเงินและภาคการคลัง และ (2) แนวทางการแก้ไขวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป มิให้ลุกลามกลายไปเป็นวิกฤติในภาคธนาคาร ว่าจะสามารถทำให้เศรษฐกิจโลกกลับมาขยายตัวได้ตามศักยภาพอีกครั้งหรือไม่

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ